ชุมชนบ้านช่าง

ชุมชนบ้านช่างเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ในวิชาช่างต่างๆ ตามระเบียบประเพณีปฏิบัติที่มีมาแต่ดั้งเดิม และสิ่งที่มีคุณค่าที่คิดค้นขึ้นมาได้ใหม่ในสภาพของสังคมปัจจุบัน เพื่อเป็นการสืบทอดศิลปะภูมิปัญญาไทยและวิถีไทย นอกจากนั้นยังเป็นชุมชนที่จะนำเสนอการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างรู้เท่าทัน ใคร่ครวญ ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เข้าถึงคุณค่าของสภาพภูมินิเวศน์ต่างๆ ของไทย

ชุมชนนี้ดำเนินการสำรวจบุคคลด้านช่างที่สำคัญของท้องถิ่นที่เรียกว่า ครูช่างทั้งในชนบทและในเมืองตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อเกิดการเรียนรู้อันมีพ่อครู แม่ครู ผู้เป็นแบบอย่างในการงานทางด้านช่าง ศึกษาถึงกระบวนการสร้างงาน และการนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้อย่างรู้เท่าทัน มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อท้องถิ่นและสังคมโดยรวม

ชุมชนบ้านช่างตั้งหลักการเรียนศิลปะที่เรียกว่าจริยศิลป์ คือการเรียนรู้ศิลปะด้วยใจอย่างใคร่ครวญผู้เรียนจะได้รับการฝึกอบรมในการใช้อายตนะทางด้านตา มือ และใจเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสัมผัสสิ่งต่างๆได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ด้วยการโน้มน้าวใจใฝ่หาความรู้และพัฒนาความสามารถของศักยภาพที่มีอยู่ภายในตนเอง

ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะฝึกฝนให้รู้จักและเข้าใจในกระบวนการทำงานต่างๆเพื่อเกิดความเคารพศรัทธาในผลงาน และทำงานด้วยการภาวนาที่เรียกว่า กายใจสัมพันธ์ ทำให้เกิดดุลภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อการเข้าถึงคุณค่าแท้ของสรรพสิ่ง ทำให้จิตใจมีความสงบสุข สามารถเข้าถึงคุณค่าของความงาม ความดีและความจริง

กระบวนการทำงานศิลปะยังมีส่วนช่วยขัดเกลาจิตใจสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามในการดำรงตนให้เป็นประโยชน์ รู้ว่าตนเองเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม และชุมชน ช่วยเหลือผู้อื่นเป็น ยอมรับความแตกต่างทางความคิด ตลอดจนถึงการรู้จักดูแลรักษาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นนิเวศวัฒนธรรมในที่สุด