Teaching Profession Diploma

Previous
Next

เปิดเส้นทางชีวิต สู่การเป็นครูเพื่อศิษย์อย่างแท้จริง

การจัดการเรียนรู้  เน้นการจัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การฝึกฝนผู้เรียนให้มีคุณสมบัติของผู้ใฝ่เรียนรู้ รู้จักใคร่ครวญต่อสิ่งที่ตนเผชิญอย่างมีสติผ่านการเจริญภาวนา เพื่อบ่มเพาะจิตวิญญาณของครูที่ดี รวมถึงการมีทักษะและสายตาในการสังเกตเด็กอย่างละเอียด ปลูกสำนึกความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้แก่สังคมไทยต่อไปในอนาคตโดยสาขาวิชาทางศึกษาศาสตร์มีกระบวนการจัดการเรียนรู้จากการทำงานเป็นฐาน (Work-based Learning) การจัดการเรียนรู้แบบใฝ่รู้ (Active Learning) การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) และการเจริญสติ (Mindfulness) เพื่อผลิตครูที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู
ภาษาอังกฤษ Graduate Diploma Programme in Teaching Profession

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย ชื่อเต็ม ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู

          ชื่อย่อ ป.บัณฑิต (วิชาชีพครู)

ภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม Graduate Diploma (Teaching) Profession

          ชื่อย่อ Grad. Dip. (Teaching Profession)

วิชาเอก
ไม่มี

จำนวนหน่วยกิตที่เรียน

จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 35  หน่วยกิต
ให้นักศึกษาลงทะเบียนได้ไม่เกินภาคการศึกษาละ 15 หน่วยกิต

ภาษาที่ใช้
ภาษาไทย

การรับเข้าศึกษา
รับเฉพาะนักศึกษาไทย

ความร่วมมือกับสถาบันอื่น
เป็นหลักสูตรเฉพาะของสถาบันที่จัดการเรียนการสอนโดยตรง

การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

• ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันที่สำนักงานคณะกรรมการ
การอุดมศึกษา (สกอ.) รับรอง โดยไม่จำกัดสาขาวิชา และ/หรือตามเงื่อนไขที่คุรุสภากำหนด
• มีสุขภาพจิตดี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เสพสิ่งเสพติด ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา และต่อการปฏิบัติวิชาชีพ
• ผ่านการคัดเลือกตามระเบียบและเกณฑ์ที่หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู สถาบันอาศรมศิลป์กำหนด

รายวิชาที่เรียน

ASI 401  มงคลชีวิตและวิถีสุขภาวะแบบองค์รวม2 (0-4-2) 
(Contemplative Practices and Holistic Health Care)
วิชาปฏิบัติการเพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาชีวิต ด้วยการฝึกฝนและบ่มเพาะญาณทัศนะ โดยอาศัยกัลยาณมิตรและชุมชนที่สมานฉันท์ ผ่านกระบวนการแห่งภาวนา 4 คือ ศีลภาวนา กายภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา รวมทั้งการสร้างสุขภาวะแบบองค์รวมผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของสถาบันอาศรมศิลป์ โดยเชื่อมโยงกับจิตวิทยาพื้นฐาน จิตวิทยาการศึกษาและจิตวิทยาการแนะแนวและให้คำปรึกษา หลักธรรมาภิบาล ความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรมของวิชาชีพครู การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีจิตสำนึกสาธารณะและเสียสละให้สังคม ฝึกฝนการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นและการยอมรับความคิดเห็นจากวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย

ASI 403  ภาษาและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ 2 (1-2-5)
(Language and Communication Technology for Learning)
การใช้ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศและวัฒนธรรมไทย เพื่อการเป็นครูและพัฒนาวิชาชีพครู ทักษะในการสื่อสาร แปลความ จับประเด็นจากการอ่านและการเขียน การพูดในที่สาธารณะ วิธีการนำเสนองานเพื่อสื่อความหมายได้อย่างถูกต้อง การเขียนงานเชิงวิชาการ ทักษะในการสืบค้น การเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เช่น อินเตอร์เนต สื่อมัลติมีเดีย โซเชี่ยลมีเดีย ฯลฯ การแสวงหาความรู้และเลือกใช้ข้อมูลข่าวสารในการเข้าถึงองค์ความรู้ทั้ง บุคคล แหล่งความรู้และแหล่งเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อยุคสมัย หลักการ แนวคิด การออกแบบ การประยุกต์ใช้และการประเมินสื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ การนำเสนองานผ่านเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและการใช้ภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  

HEA 501 สารัตถะแห่งการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร  3 (2-2-5)
(Essence of Education and Curriculums Development)
ปรัชญา แนวคิด ทฤษฎีการศึกษา ประวัติความเป็นมาและระบบการจัดการศึกษาไทย วิสัยทัศน์และแผนพัฒนา การศึกษาไทยที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างศาสนา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ปรัชญาการศึกษาตามแนวพุทธธรรม การประยุกต์ใช้ปรัชญา ทฤษฎีเพื่อพัฒนาสถานศึกษา และวิธีการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ทฤษฎีหลักสูตร หลักการ แนวคิดในการจัดทำหลักสูตร การวิเคราะห์หลักสูตร และการพัฒนาหลักสูตร  การนำหลักสูตรไปใช้  มาตรฐานช่วงชั้นของหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร การประเมินหลักสูตรและการนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตร

HEA 503  การเรียนรู้แบบบูรณาการ การวัดและประเมินผล  3 (2-2-5)
(Integrative Learning and Education Assessment)
ทฤษฎีการเรียนรู้และการสอน หลักการ แนวคิด แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการเรียนรู้
การจัดการทำแผนการเรียนรู้ สู่การปฏิบัติจริงที่สร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การออกแบบและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ การบูรณาการสาระการเรียนรู้ การเรียนแบบเรียนรวม วิทยาการจัดการเรียนรู้ การใช้ การคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา การผลิตสื่อ และการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างเป็นระบบ  หลักและเทคนิคการวัดและประเมินผลการศึกษา การสร้างและการใช้เครื่องมือวัดผลและประเมินผล การประเมินผลประเภทต่างๆ เช่น การประเมินตามสภาพจริง การประเมินจากแฟ้มสะสมงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินการทำงานเป็นกลุ่มย่อยและแบบรวมฯ อย่างสอดคล้องกับหลักประกันคุณภาพทางการศึกษา โดยผ่านการปฏิบัติงานจริง (Work-Based Learning)

HEA 504  จิตวิญญาณความเป็นครู  3 (1-4-4)
(Conscience of Teacher)
กระบวนการพัฒนาตนเพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู คุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพครู สภาพงานครู คุณลักษณะและเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู คุณค่าและทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู พัฒนาการของวิชาชีพครูและการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างความก้าวหน้าและพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสังเกตและเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ระบบกัลยาณมิตรนิเทศหรือเพื่อนร่วมโค้ช การจัดการความรู้ การแสวงหาและเลือกใช้ผู้นำข้อมูลข่าวสารความรู้เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพให้มีความรอบรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนและกลยุทธ์การสอน เพื่อให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และสร้างความก้าวหน้าพัฒนาวิชาการอย่างต่อเนื่อง สะท้อนย้อนมองความเป็นครูของตน  การเป็นผู้นำทางวิชาการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

HEA 505  การบริหารจัดการเพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพครู   3 (1-4-4)(Professional Learning Community)
หลักการ แนวคิดทฤษฎีและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพการศึกษา การบริหารจัดการระบบการศึกษา การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ การพัฒนาศูนย์การเรียนในสถานศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษา การจัดการคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมประเมินคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้และการบริหารจัดการห้องเรียน การออกแบบกระบวนการและโครงการเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้ การสร้างองค์ความรู้ผ่านการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยประยุกต์ใช้จิตวิทยาพื้นฐานด้านการพัฒนามนุษย์ และการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง จิตวิทยาการศึกษา การแนะแนวให้คำปรึกษาเพื่อการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์ปัญหาเป็นฐาน กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือของผู้เรียนเป็นรายบุคคล และบุคคลต่างๆ ในการศึกษา การทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำทางการศึกษา การมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ปรัชญาของสถานศึกษาให้มีอัตลักษณ์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดี

GDA 101  จิตวิทยาสำหรับครูและการบริหารจัดการในห้องเรียน  3 (2-2-5) 
(Teacher’s Psychology and Classroom Management)
การประยุกต์หลักการ แนวคิด ทฤษฎีของจิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยาการ
แนะแนว และการให้คำปรึกษา สู่การพัฒนานักเรียน ทฤษฎีและหลักการบริหารจัดการในชั้นเรียน การเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ การออกแบบพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติตามวัย และความ สามารถที่แตกต่างหลากหลายของผู้เรียนและบริบทของสังคม การสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เต็มศักยภาพและพัฒนาการในทุกด้าน

GDA 102  การวิจัยทางการศึกษา 3 (2-2-5)
(Research in Education)
ทฤษฎีการวิจัย รูปแบบการวิจัย การออกแบบการวิจัย กระบวน การวิจัย สถิติเพื่อการวิจัย การวิจัยในชั้นเรียน การวิจัยนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ การนำเสนอผลงานวิจัยผ่านเวทีสัมมนาวิชาการ การมีส่วนร่วมเรียนรู้ของสถานศึกษา องค์กร ชุมชนและท้องถิ่น

GDA 103  นวัตกรรมทางการศึกษาแบบองค์รวม 3 (2-2-5)
(Innovation in Holistic Education)
แนวคิด ทฤษฎี และนวัตกรรมการศึกษาแบบองค์รวมต่างๆ ปรัชญาและแนวคิดทางสังคมศาสตร์
การคิดเชิงระบบ  ทักษะการจัดการ การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมความเป็นไทย การพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎีและการปฏิบัติการจัดการเรียนรู้และการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ การฝึกออกแบบ สร้าง นำไปใช้ และประเมินผลนวัตกรรมทางการศึกษากับการเรียนรู้ของผู้เรียน

GDA 104  นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา  2 (1-2-5)
(Innovation and Information Technology for Education)
หลักการ แนวคิด การออกแบบประยุกต์ใช้ และการประเมินสื่อ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ และส่งเสริมการจัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น การจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลฐานข้อมูล  ระบบสารสนเทศเอกสาร การพัฒนาระบบสารสนเทศสนับสนุนการเรียนการสอน การรู้เท่าทันสื่อ  การเลือกใช้เทคโนโลยีสนเทศและการสื่อสารต่างๆ ทั้ง อินเตอร์เนต โซเชี่ยลมีเดีย เพื่อสร้างชุมชนและเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูในการส่งเสริมคุณภาพการจัดการศึกษา

GDA 105  การฝึกพื้นฐานวิชาชีพ   2 (0-4-6)
(
Fundamental Practicum)  
การสังเกตการจัดการเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมในการจัดการชั้นเรียน เรียนรู้การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง การสังเกตเด็ก เรียนรู้ระบบกัลยาณมิตรนิเทศ (Peer Coaching) การทดลองปฏิบัติการสอนทั้งในสถานการณ์จำลองและสถานการณ์จริง การบันทึกหลังทดลองสอน เรียนรู้การออกแบบทดสอบ ข้อสอบ เครื่องมือวัดผล การตรวจข้อสอบ การให้คะแนนและการตัดสินผลการเรียน การสอบภาคปฏิบัติและการให้คะแนน การนำผลจากการประเมินไปใช้พัฒนาผู้เรียน ศึกษาแนว ทางการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาผู้เรียน เรียนรู้การประเมินตนเองและการพัฒนาความเป็นครูอาชีพ

GDA 106   การปฏิบัติงานสอนในสถานศึกษา 1  3 (0-17-0)
(Teaching Professional Practicum I) 255 ชั่วโมง
การสังเกตการจัดการเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมในการจัดการชั้นเรียน ฝึกการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง การสังเกตเด็ก ระบบกัลยาณมิตรนิเทศ (Peer Coaching) การปฏิบัติการสอน การบันทึกหลังการสอน ฝึกการออกแบบทดสอบ ข้อสอบ เครื่องมือวัดผล การตรวจข้อสอบ การให้คะแนนและการตัดสินผลการเรียน การสอบภาคปฏิบัติและการให้คะแนน การวิจัยในชั้นเรียน การนำผลจากการประเมินไปใช้พัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล การฝึกฝนพัฒนาการประเมินตนเองการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นครูมืออาชีพ การสัมมนาการศึกษาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือแบ่งปันความรู้ หลักการและการบันทึกการปฏิบัติงานอื่นๆที่ได้รับมอบหมายในสถานศึกษา

GDA 107   การปฏิบัติงานสอนในสถานศึกษา 2    3 (0-17-0)
(Teaching Professional Practicum II)   255 ชั่วโมง
การจัดการเรียนรู้ และการจัดสภาพแวดล้อมในการจัดการชั้นเรียน สามารถจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง การสังเกตเด็ก ระบบกัลยาณมิตรนิเทศ (Peer Coaching) การปฏิบัติการสอน การบันทึกหลังการสอน สามารถออกแบบทดสอบ ข้อสอบ เครื่องมือวัดผล การตรวจข้อสอบ การให้คะแนนและการตัดสินผลการเรียน การสอบภาคปฏิบัติและการให้คะแนน การวิจัยในชั้นเรียน การนำผลจากการประเมินไปใช้พัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล การฝึกฝนพัฒนาการประเมินตนเอง การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นครูมืออาชีพ การสัมมนาการศึกษาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือแบ่งปันความรู้ หลักการและการบันทึกการปฏิบัติงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายในสถานศึกษา

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

ครู อาจารย์ผู้จัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับการศึกษาขั้นอุดมศึกษา

คณาจารย์

คณาจารย์ประจำหลักสูตร

รองศาสตราจารย์ อมรา รอดดารา

รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สัจกุล

ดร.จันทนา จินดาพันธ์

ดร.นฤมล ประสิทธิ์ศร

อาจารย์อภิษฎา ทองสอาด

อาจารย์สมจิตต์ สุวรรณวงศ์

อาจารย์ปานใจ จารุวณิช ​

อาจารย์สืบศักดิ์ น้อยดัด

คณาจารย์พิเศษ

รองศาสตราจารย์ ประภาภัทร นิยม

อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง

อาจารย์วิชิต ชี้เชิญ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์

ผู้ช่วยศาสตรจารย์ สุจิตรา สุคนธทรัพย์

ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ

อาจารย์อมรา สาขากร

อาจารย์อัจฉรา สมบูรณ์

อัตราค่าธรรมเนียมและค่าเล่าเรียน

อัตราค่าลงทะเบียนตลอดหลักสูตร

ก.ค่าธรรมเนียมในการสมัครและสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
ทุกหลักสูตร 700 บาท (ชำระเมื่อยื่นใบสมัคร)

ข.ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา*
(เฉพาะภาคศึกษาแรกที่เข้าศึกษา) 1,000 บาท

ค.ค่าบำรุงการศึกษา (อัตราต่อภาคการศึกษา)
ค่าบำรุงกิจกรรมเสริมหลักสูตร
1,000 บาท
ค่ากิจกรรมนักศึกษาและกิจกรรมกีฬา
1,000 บาท
ค่าบำรุงห้องพยาบาลและเวชภัณฑ์
1,000 บาท
ค่าบำรุงสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต
1,500 บาท
ค่าบำรุงห้องสมุด
1,500 บาท
ค่าอุปกรณ์ปฏิบัติการเชิงวิชาชีพ *
2,000 บาท

ง.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิต
หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู
หน่วยกิตละ 2,000 บาท

จ.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายเฉพาะหลักสูตร
หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู  จำนวนเงิน    52,000  บาท
ให้นักศึกษาชำระภาคการศึกษาแรก จำนวน 18,000  บาท  ภาคการศึกษาที่สอง จำนวน 17,000 บาท และภาคการศึกษาที่สาม จำนวน  17,000 บาท  ทั้งนี้ได้รับการ ยกเว้น ค่ากิจกรรมนักศึกษาและกิจกรรมกีฬา ค่าอุปกรณ์ปฏิบัติการเชิงวิชาชีพ มีรายละเอียดดังนี้

• ค่าลงทะเบียนหน่วยกิต ระยะเวลา 1.5 ปี  
จำนวน 44,000 บาท
• ค่าบำรุงการศึกษา ระยะเวลา 1.5 ปี   
จำนวน   7,000 บาท              
 – ค่าบำรุงห้องพยาบาลและเวชภัณฑ์ (1,000 บาท)
 – ค่าบำรุงสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต (1,500 บาท)
 – ค่าบำรุงห้องสมุด (1,500 บาท)
– ค่าบำรุงกิจกรรมเสริมหลักสูตร  (3,000  บาท)
• ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
จำนวน   1,000 บาท ในภาคการศึกษาแรก

หมายเหตุ : อัตราค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายทุกหลักสูตร ยังไม่รวม ค่าธรรมเนียมในการสมัคร/สอบคัดเลือก ค่าใช้จ่ายช่วงสำเร็จการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการออกภาคสนาม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอน 

ฉ.ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด
• ค่าปรับลงทะเบียนเรียนล่าช้ากว่ากำหนด
โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน (วันละ) 200 บาท
หากมีความจำเป็นขอให้ทำหนังสือชี้แจงมายังสถาบันฯเพื่อพิจารณา มิฉะนั้นการลงทะเบียนนั้นเป็นโมฆะ
• ค่าธรรมเนียมรักษาสถานภาพนักศึกษา
ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรบัณฑิต (ภาคการศึกษาละ) 1,000 บาท
• ค่าหนังสือแสดงผลการศึกษา
150 บาท
• หนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักศึกษา
150 บาท
• ค่าขอเทียบโอนวิชาจากสถาบันอื่น
(ครั้งละ) 1,500 บาท
• ค่าธรรมเนียมนำเสนอโครงร่างและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์
5,000 บาท
• ค่าธรรมเนียมบัตรนักศึกษาที่ขอใหม่
(ใบละ) 200 บาท
• ค่าธรรมเนียมช่วงสำเร็จหลักสูตร
5,000 บาท
• ค่ากิจกรรมภาคสนามในประเทศและต่างประเทศ
พิจารณาตามความเหมาะสม

ช. ค่าปรับการส่งหนังสือห้องสมุดเกินกำหนด
•หนังสือทั่วไป
(เล่ม/วันละ) 10 บาท
•หนังสือจอง
(เล่ม/ชั่วโมง) 10 บาท
•หนังสือจอง
(วันละ) 80 บาท

                         

ปฏิทินการศึกษา
FAQ คำถามที่พบบ่อย

เรียนแล้วได้ใบประกอบวิชาชีพเลยไหม
เมื่อเรียนจบแล้วจะได้ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู จากสถาบันอาศรมศิลป์ ส่วนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะเป็นตามเกณฑ์ข้อกำหนดของคุรุสภา อาทิ ผ่านการประเมินด้านทักษะและด้านคุณลักษณะ จากสถาบัน และสอบด้านความรู้ จากศูนย์ทดสอบของครุสภา เป็นต้น