สถาบันอาศรมศิลป์

ความเป็นมา

สถาบันอาศรมศิลป์เป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกก่อตั้งขึ้นหลังจากที่โรงเรียนรุ่งอรุณได้ดำเนินการสอนในระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมปลาย มาแล้วเป็นเวลา 10 ปี โดยเริ่มเปิดการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตรคือหลักสูตรสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และหลักสูตรศึกษาศาสตร์สาขาการศึกษาแบบองค์รวม เมื่ออาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสถาปนิกภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้รับโจทย์ที่ท้าทายในการออกแบบ “บ้าน”ของชาวอาศรมศิลป์ที่มีทั้ง ผู้บริหาร ครู สถาปนิก และบุคลากรส่วนต่างๆ ของสถาบัน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคนโดยมีเป้าหมายในการสร้างให้บ้านหลังนี้เป็น Contemporary Tropical Architecture ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การส่งเสริม “ชีวิต”ที่อยู่ภายในให้เติบโตไปพร้อมกับชุมชน ธรรมชาติ และการสืบสานภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตะวันออกให้เข้ากับบริบทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Local Wisdom + Modern Technology )

แนวความคิดในการออกแบบ

คำถามสำคัญที่สุดในโครงการนี้ คือ เราต้องการให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ทำหน้าที่อะไร สถาปนิกจึงเริ่มต้นด้วยการจัดกระบวนการให้ชาวอาศรมศิลป์มาร่วมแสดงความคิดเห็นกัน ซึ่งผลลัพธ์ในครั้งนั้นทำให้ได้คำตอบว่า “เราไม่ได้ต้องการให้สถาปัตยกรรมทำหน้าที่เพียงแค่เป็นอาคาร แต่เราอยากจะให้สถาปัตยกรรมได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้และ สร้างสำนึกของคนไปพร้อมๆ กัน”

1.มหาวิทยาลัยชุมชน ... อาศรมศิลป์กับการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้

สถาปนิกเลือกใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ในทุกๆ ขั้นตอนของการออกแบบตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการกำหนดเป้าหมาย การทำโปรแกรมความต้องการ การดูงานร่วมกัน การให้ความเห็นเกี่ยว กับแบบ ครั้งหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญ คือการช่วยกันถ่ายทอดความคิดในโจทย์ที่ว่า “อยากให้อาศรมศิลป์ที่จะเกิดขึ้นมีลักษณะเป็นอย่างไร” ผ่านการเล่าเรื่องด้วยรูปภาพคนละ 3 รูป วันนั้น สถาปนิกจำได้ว่าคนสามสิบกว่าคนมานั่งรวมกัน แต่ละคนหาภาพและเล่ากันอย่างตั้งใจตั้งแต่บ่ายจนถึงค่ำ หลังจากนั้นสถาปนิกจึงนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาทำเป็นโมเดลถึง 5 ทางเลือกเพื่อให้ ชาวอาศรมศิลป์ได้ร่วมกันให้ความคิดเห็นอีกครั้ง ผลปรากฏว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นมติร่วมกันก็คือ “ต้องการให้สถาบันอาศรมศิลป์แห่งนี้ เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในบรรยากาศที่อบอุ่นเหมือนหมู่บ้านท่ามกลางธรรมชาติ”

ในขั้นตอนของการออกแบบ สถาปนิกจึงเลือกที่จะตอบเป้าหมายนี้ด้วยการสร้างความเป็นเรือนหมู่ โดยแยกเป็นเรือน 5 เรือนเพื่อเปิดรับธรรมชาติโดยรอบ และเชื่อมระหว่างเรือนด้วยชาน ระเบียง ที่โอบล้อมพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ตรงกลางซึ่งมีมากกว่า 50% ของพื้นที่ทั้งหมด ได้แก่ 1) ลานชุมชน ที่เป็นลานกลางแจ้งใช้ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเป็นขุมชนของชาวอาศรมศิลป์ เช่น การจัดงานสถาปนาสถาบัน การจัดงานปีใหม่ ฯลฯ 2) ชานชุมชน เป็นชานสำหรับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนในแต่ละเรือน เช่น การประชุม การสนทนากลุ่มย่อย ฯลฯ 3) ระเบียงด้านหน้าและหลังเรือน ที่เป็นพื้นที่ขนาดเล็กสำหรับคนจำนวนไม่มากนัก เป็นที่นั่งพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งลาน ชาน และระเบียงถูกออกแบบให้เชื่อมเข้าหากันทั้งทางสายตาและการเข้าถึงตามแนวความคิด “ลานเชื่อมชาน ชานเชื่อมชาน ชานเชื่อมระเบียง ระเบียงเชื่อม ระเบียง ทำให้ ใจเชื่อมใจ” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ในช่วงก่อสร้างสถาปนิกเข้าไปดูแลไซต์ก่อสร้างอยู่เสมอๆ จึงได้เห็นความตั้งใจและใส่ใจของช่างผู้ก่อสร้างในการทำงานอย่างละเอียดลออทุกขั้นตอน ทั้งการให้ คำปรึกษาทางด้านโครงสร้างไม้ รวมถึงงานเล็กๆ อย่างการตอกตะปูและการไสไม้ จนปฏิเสธไม่ได้ว่าหากไม่มีช่างผู้ก่อสร้างซึ่งรักในงานสถาปัตยกรรมไม่แพ้สถาปนิกผู้ออกแบบ งานนี้จะไม่มีทางสำเร็จออกมาด้วยความประณีตเช่นนี้ได้เลย และความรักในงานนี้เองเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างช่างกับสถาปนิกดำเนินไปได้โดยสะดวก ตั้งแต่ต้นจนจบ ตลอดช่วงเวลาการทำงาน สถาปนิกได้มีส่วนร่วมในการก่อเกิดของมิตรภาพและการเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งกับอาจารย์ เพื่อน พี่ ช่างก่อสร้าง หรือแม้แต่แม่บ้าน ที่ทุกครั้งเมื่อต้องการความคิดเห็นหรือความช่วยเหลือ ทุกๆ คนก็จะมาร่วมลงแรง ออกความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ นี่คือชุมชนแห่งการเรียนรู้เล็กๆที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นระหว่าง กระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม และเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับผู้ออกแบบ

2.มหาวิทยาลัยธรรมชาติ ... อาศรมศิลป์กับสำนึกเรื่องธรรมชาติ

ปรัชญาและแนวทางการเรียนการสอนที่อาศรมศิลป์ผูกพันอยู่กับธรรมชาติอย่างแยกไม่ออก เพื่อให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ส่งเสริมให้เกิดสำนึกรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะลงมือออกแบบ สถาปนิกได้สรุปวิธีคิดของตัวเองไว้ว่า “หากต้องการให้ผู้อาศัยผูกพันกับสิ่งใดก็ต้องสร้างสถาปัตยกรรมที่เปิดโอกาสให้สัมผัส กับสิ่งนั้นมากๆ หากต้องการให้ผูกพันกับธรรมชาติก็ต้องให้สัมผัสกับธรรมชาติให้มากที่สุด” ในขั้นตอนของการออกแบบ สถาปนิกจึงเลือกที่จะใช้วิธีการ

1) กำหนดให้มีที่ว่างในโครงการมากกว่า 90% ให้ธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักตัวอาคารเป็นรอง (Landscape dominates Architecture)
2) สร้างบรรยากาศต้อนรับการเข้าถึงโครงการให้เป็นธรรมชาติ (Sense of Arrival) ด้วยการปลูกต้นไม้ให้ความร่มเย็นตั้งแต่ถนนทางเข้าด้านหน้า เป็นระยะทางกว่า 750 เมตร
3) ออกแบบให้เข้าถึงอาคารได้โดยการเดินผ่านทางเดินเลียบบ่อน้ำซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงการ เพื่อกล่อมเกลาให้ผู้คนที่เข้ามาในโครงการให้เกิด ความผูกพันกับธรรมชาติและความสงบเย็นทั้งทางกายและทางจิตใจ
4) ใช้วัสดุไม้เป็นองค์ประกอบหลักของอาคารทั้งผนัง พื้น ฝ้าเพดาน และโครงสร้างหลังคา ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถปลูกทดแทนได้ และเพื่อให้ผู้ใช้สอยอาคารได้สัมผัส กับไม้เพื่อการตระหนักในคุณค่าที่จะนำไปสู่สำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรต่อไป นอกจากนี้ยังกำหนดพื้นที่ 80 % ของที่ดินไว้เป็นพื้นที่สีเขียว และกันพื้นที่จำนวน 2 ไร่ไว้ปลูกเป็นป่า เพื่อทดแทนไม้ที่ใช้ไป
5) มีสถานีคัดแยกขยะตามจุดต่างๆ ของอาคาร ก่อนจะนำไปรวมกันที่ศูนย์คัดแยกทรัพยากรที่ตั้งอยู่ที่โรงเรียนรุ่งอรุณและนำมาหมุนเวียนใช้ในชุมชนก่อนที่ จะขายต่อเป็นลำดับสุดท้าย วิธีการนี้ทำให้ปริมาณขยะภายในโรงเรียนลดปริมาณขยะจากวันละ 120 กิโลกรัมเป็นวันละ15 กิโลกรัม
6) ใช้ระบบบำบัดแบบธรรมชาติ ผ่านการกรองจากวัสดุธรรมชาติก่อนจะลงสู่แหล่งน้ำ และนำมาเป็นน้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ในบริเวณรวมถึงยังเป็นน้ำสำรองยาม เกิดเพลิงไหม้ด้วย

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประเมินผลได้ว่า สถาปัตยกรรมชิ้นนี้สามารถช่วยสร้างสำนึกเรื่องธรรมชาติของผู้คนที่นี่ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่สิ่งที่ทำให้สถาปนิก เกิดกำลังใจในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมในแนวทางนี้ต่อไปคือ การได้เห็นชาวอาศรมศิลป์เอามือลูบไม้อย่างแผ่วเบา ถอดรองเท้าเดินไปบนพื้นไม้ หรือยิ่งไปกว่านั้น คือการได้เห็นสถาปนิกในอาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมหลายคนเชื่อมั่นในประโยชน์ของการใช้วัสดุไม้ในงานสถาปัตยกรรมและนำเสนอการใช้วัสดุไม้ต่อเจ้าของโครง การในงานออกแบบที่ตนรับผิดชอบอยู่เพื่อเผยแพร่แนวคิดเช่นนี้ต่อไป นับว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันครั้งสำคัญของสถาปนิกผู้ออกแบบและชาวอาศรมศิลป์ทุกคน

3.มหาวิทยาลัยมุงจาก...อาศรมศิลป์กับการสืบสานภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตะวันออก

สถาปนิกตั้งคำถามสำคัญคำถามแรกว่าจะสร้างสำนึกของนักศึกษาให้มีความผูกพันกับชุมชนและสร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้านที่จะมาเรียนในอาศรมศิลป์ ได้อย่างไร และจะสามารถผสมผสานภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมให้เข้ากับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่(Local wisdom + Modern Technology) ได้อย่างไร ในขั้นตอนของการออกแบบ สถาปนิกจึงเลือกที่จะ

1)สร้างอัตลักษณ์ของสถาบันด้วยการวัสดุใช้วัสดุมุงหลังคาที่หาได้ง่ายได้ท้องถิ่นย่านบางขุนเทียนซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันเพื่อประหยัดพลังงานในการขนส่ง นั่นคือ “จาก” และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแก้ข้อด้อยของจาก ในด้านอายุการใช้งานที่สั้นกว่าวัสดุมุงหลังคาสำเร็จรูปทั่วไป และการรั่วซึม ซึ่งชาวอาศรมศิลป์ ยอมรับความจริงที่จะต้องเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาทุกๆ เวลา 5-7 ปี ถึงอย่างนั้นก็ตาม สถาปนิกคิดว่าน่าจะยืดอายุการใช้งานของจากให้นานขึ้นได้ หากมุงหนากว่า บ้านทั่วไป 2 เท่า และใส่ sub roof เป็นสังกะสีแผ่นเรียบ เพื่อแก้ปัญหาการรั่วซึม นอกเหนือจากข้อด้อยที่กล่าวมานี้ จากมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีมาก ช่วยลดความร้อนที่แผ่เข้ามาจากหลังคาด้านบนได้ดี
2)ใช้สลิงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับแรงของไม้ จึงลดหน้าตัดไม้โครงสร้างหลังคาให้มีขนาดเล็กลงได้ เป็นการประหยัดปริมาณไม้ที่ใช้ไปได้มาก
3)ใช้ผนังไม้ตีชนโครงเคร่าอยู่ภายนอกที่นอกจากจะสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึงยุ้งข้าวแล้ว ในขณะเดียวกันก็ทำให้สะดวกต่อการใช้งานภายในเนื่องจาก จะได้ผนังที่เรียบอีกด้วย
4)ออกแบบให้อาคารป้องกันความร้อนและระบายอากาศได้ดีเพื่อลดความจำเป็นในการใช้เครื่องปรับอากาศ ในขณะเดียวกันก็ออกแบบให้ยืดหยุ่นสามารถปรับ เปลี่ยนได้เมื่อมีความจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงบ่ายของบางวันที่อากาศร้อนจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานด้วยการแบ่งขอบเขต พื้นที่ในการใช้เครื่องปรับอากาศ และลดทอนปริมาตรของพื้นที่ปรับอากาศให้น้อยที่สุด

เมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมอาคารสถาบันอาศรมศิลป์ สถาปนิกสังเกตเห็นว่าผู้เยี่ยมชมมักให้ความสนใจการออกแบบโดยการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับเทคโนโลยี สมัยใหม่เป็นพิเศษ ทำให้สถาปนิกได้เรียนรู้ถึงอีกหน้าที่หนึ่งของสถาปัตยกรรมในการเป็นสื่อกลางสร้างความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างจับต้องได้ และยังเป็นสื่อกลาง ในการสอนให้นักศึกษาสถาปัตยกรรมได้เรียนรู้วิธีการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่และภูมิปัญญาตะวันออกเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ตลอดระยะเวลาของกระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมาสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ได้สอนสถาปนิกผู้ออกแบบว่า การสร้างสำนึกต่อชุมชน ธรรมชาติ และการสืบสานภูมิปัญญานั้น สถาปัตยกรรมทำหน้าที่เป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนหนึ่งในหลากหลายปัจจัยเท่านั้น แต่เราในฐานะสถาปนิกผู้มีหน้าที่สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมมีส่วนโดยตรงที่จะสร้างและต่อยอด การเรียนรู้ ทำให้ปัจจัยหนึ่งที่ว่านั้นออกมาดีที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อให้สถาปัตยกรรมได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มภาคภูมิ