เล่นสร้างปัญญา Play – Power – Participate สนามเด็กเล่นแห่งดอยสูง

การเล่น คือการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญา

ยิ่งเล่นก็ยิ่งมีทักษะการจัดการร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว ยิ่งเล่นก็ยิ่งเพิ่มพูนสติด้วยความกล้า การตัดสินใจ ไหวพริบ ทำให้ทุกประสาทสัมผัสเกิดการพัฒนา ดังนั้นการเล่นจึงจำเป็นต่อพื้นฐานชีวิตวัยเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ของสถาบันอาศรมศิลป์ เล็งเห็นความสำคัญ

ทำไมต้องที่นี่ โรงเรียนบ้านแม่ลิด หมู่บ้านแม่ลิดป่าแก่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

“พวกเราอยากสร้างของจริงครับ”

นายกันตเมศฐ์ อำนาจกิจเสรี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ บอกอย่างจริงจัง ถึงโครงการต่อเนื่องของการออกแบบสนามเด็กเล่นจากปีที่แล้ว

“ในชั้นปีที่ 1 พวกเราได้เรียนการออกแบบสนามเด็กเล่นมาครับ พอออกแบบมาแล้ว เลยคิดว่าจะหาที่สร้างจริง ก็พอดีกับได้คำแนะนำจากอาจารย์หลักสูตรศึกษาศาสตร์ที่สถาบันฯ ว่ามีโรงเรียนเครือข่าย ที่กำลังขาดเครื่องเล่นของเด็กเล็กอยู่ จึงมาสำรวจ ก็พบว่าที่นี่มีต้นทุนทางพื้นที่สูงมาก มีธรรมชาติสมบูรณ์ มีต้นไม้ ลำธาร ดังนั้นพวกเราจึงได้ออกแบบเครื่องเล่นใหม่ให้เข้ากับพื้นที่ของโรงเรียนบ้านแม่ลิดครับ”

สนามเด็กเล่นแบบนี้มาจากไหน

“สนามเด็กเล่นสำคัญมากสำหรับเด็ก  เพราะการเรียนก็คือการเรียนรู้สำหรับเด็ก  และถ้ามีเครื่องเล่นที่เหมาะสมกับการพัฒนาการเด็กก็จะยิ่งสร้างเสริมปัญญาของเด็กได้  การเล่นจะช่วยพัฒนาปัญญา สร้างการเรียนรู้ การกล้าตัดสินใจ ทักษะชีวิตกับเด็ก  ดังนั้นการเล่นจึงสำคัญ และจำเป็นมาก”

ผ.อ. สายัญ โพธิ์สุวรรณ โรงเรียนบ้านแม่ลิด กล่าว “น้องๆ นักศึกษา นำแบบมาเสนอตอนแรกแต่ยังไม่ลงตัว จึงได้นำโจทย์ใหม่จากโรงเรียนให้กลับไปปรับแบบ คือ ให้เป็นสนามเด็กเล่นที่เข้ากับพื้นที่ ให้เป็นธรรมชาติ และใช้วัสดุท้องถิ่น”

“เราคุยกับ ผ.อ.และครูในโรงเรียนเพื่อให้ได้แบบที่ทุกคนพอใจ ซึ่งทุกคนอยากให้เป็นธรรมชาติ เข้ากับบริบทพื้นที่ ใช้วัสดุท้องถิ่นด้วยบ้าง ซึ่งบางอันก็ต้องลดตามงบประมาณ และพอปรับแล้วก็ได้รูปแบบใหม่และเข้ากับพื้นที่ครับ” นายกันตเมศฐ์ ตอบ

หลังจากได้รับรู้ความต้องการของโรงเรียนและการได้ลงพื้นที่จริงแล้ว นักศึกษาจึงกลับมาออกแบบอีกครั้ง และยังคงแนวคิดเดิมคือออกแบบเครื่องเล่นที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กมากที่สุด โดยได้ออกแบบเครื่องเล่นที่พัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ฝึกระบบประสาทสัมผัส (sensory) การทรงตัว การใช้มือและเท้า ปีน ไต่ โหน ซึ่งข้อมูลด้านพัฒนาการของเด็กนี้ นักศึกษาได้เข้าพบกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนักกายภาพเด็กของโรงเรียนรุ่งอรุณ และจาก อ.ดิสสกร กุนธร ผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้แบบ BBL และสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จึงทำให้ทุกฝ่ายยอมรับและเชื่อถือ

โดยได้ออกแบบเครื่องเล่น แบ่งเป็น 5 ชุด
1. ชุดเครื่องเล่นใยแมงมุม  ซึ่งทำด้วยเชือกขนาดใหญ่ขึงกับต้นไม้ กลางลำธารขนาด 10 เมตร
2. ชุดหน้าผาหิน โดยปรับเนินดินเดิมใต้บ้านให้ความชันที่เหมาะกับการปีน ใช้หินในพื้นที่สร้างระดับการไต่ และใช้โครงเหล็กกับปูนฉาบยึดไว้เพื่อความแข็งแรง
3. ชุดทางเดินประสาทสัมผัส ใช้หินหลากหลายขนาดให้เดินเหยียบ ก่อนถึงลานทรายเล็กๆ ริมลำธาร
4. กระดานลื่น (สไลด์เดอร์) มีสองแบบ แบบปูนและแบบไม้ไผ่ ให้ลื้นลงไปที่ลำธาร
5. มุมระเบียงอ่านหนังสือริมลำธาร ซึ่งได้รับบริจาคบ้านไม้เก่า จึงดัดแปลงมาเป็นชานริมน้ำให้เด็กได้นั่งพักผ่อน

“คือเราไปดูสนามเด็กเล็กที่โรงเรียนรุ่งอรุณ โดยก่อนออกแบบก็ไปหาครู เด็ก และเรียนรู้เรื่องของ sensory (ระบบประสาทสัมผัส) และไปดูตัวอย่างสนามเด็กเล่นของ อ.ดิสสกร กุนธร ที่สร้างจินตนาการให้เราอย่างมาก ได้เรียนรู้เรื่อง BBL (Brain-based Learning) และการสร้างเครื่องเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อ ความกล้า ความคิด การตัดสินใจของเด็กๆ ” น.ส.สิริวดี นิ่มนวล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 กล่าว

“บางอย่างขั้นตอนการทำยุ่งยากและใช้งบประมาณมากไป เช่น เครื่องเล่นไต่กำแพง จึงปรับใหม่ ดูจากพื้นที่ว่ามีอะไร ซึ่งเดิมมีเนินดินชัน มีก้อนหินใหญ่ ก็ปรับเป็นเนินสำหรับไต่ ใช้หินในพื้นที่ และปูน ซึ่งเด็กก็ยังได้ไต่ ได้ปีน ฝึกกล้ามเนื้อได้เหมือนเดิม” นายกันตเมศฐ์ ตอบ

“วัฒนธรรมกฐิน” พลังจากมวลชน

“วัฒนธรรมกฐินอยากให้เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือองค์กรต่างๆ” ผ.อ. สายัญ โพธิ์สุวรรณ กล่าว “วัฒนธรรมนี้ไม่ใช่ผู้รอรับอย่างเดียว แต่จะเป็นผู้ให้ด้วย หรือคนนอกก็ไม่ควรให้อย่างเดียวจะควรให้คนในท้องที่ได้แสดงออกด้วย เหมือนเราทำบุญกฐินที่แต่ละคนต้องช่วยกันเป็นเจ้าภาพ จะเตรียมพื้นที่ จะเตรียมงาน เตรียมกำลัง ก็ตามแต่ที่จะทำได้ เด็กนักเรียนมัดเชือกได้ก็มัด ช่วยขนหินขนทรายได้ก็ช่วย สิ่งเหล่านี้เองเป็นมิติที่งาม และโดยธรรมชาติพอได้ช่วยได้ทำด้วยแล้ว จิตจะฝั่งลงไปด้วย มีความเป็นเจ้าของร่วมด้วย”

“ผมจึงให้มีหลายๆ ส่วนเข้ามาช่วย กลุ่มกำลังหลักเป็นผู้ปกครองเด็กอนุบาล หมู่บ้านที่มาช่วย เช่น หมู่บ้านป่าลิดป่าแก่ แม่ลิดหลวง แม่ลิดน้อย แม่ลิดป้าแห้ว สุดห้วยนา ปางช้าง สิริมงคล บ้านสิรี ฯ อีกแรงนึงคือเด็กมัธยม เด็กประถม เป้าหมายคือเพื่อทำเครื่องเล่นให้กับน้องๆ ซึ่งพี่ๆ เองก็อยากไปเล่นด้วย”

“ส่วนสำหรับนักศึกษา ผมเห็นความตั้งใจ มุ่งมั่นของนักศึกษา และสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากนักศึกษาก็คือ ทุกจุดที่วางไว้มีเรื่องหลักการทางวิชาการเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กซ่อนอยู่ทั้งหมด  ซึ่งหากไม่ได้แลกเปลี่ยนด้วยก็คงไม่ทราบ และเครื่องเล่นนี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่เด็ก แต่เป็นการเรียนรู้ของครูด้วย ครูที่ต้องคอยจับประเด็นการเล่นเพื่อขมวดว่าจะเสริมจะเติมเด็ก ที่จะทำให้เป็นการเล่นอย่างมีความหมายและเกิดประโยชน์สุงสุด”

จะไปเล่นกันไหม

“ไปเล่นแน่นอน และเด็กๆ พาครูไปเล่นก่อนครับ” ครูยศกร หัวเราะและกล่าวต่อ “ผมว่าแบบนี้ดีมาก เห็นภาพความร่วมมือจากภายนอก มีหน่วยงานทางการศึกษาอื่นเข้ามาร่วมมือ มาช่วยเหลือกัน นำสิ่งแปลกใหม่เข้ามา คือคนที่นี่ก็ไม่ค่อยได้เห็นอะไรมาก การมีคนนอกมาก็เปิดหู เปิดตา โรงเรียนมีพื้นที่จำกัดและหากดูรอบๆ แล้ว เราไม่มีสนามเด็กเล่นมาก่อน และการเข้ามาออกแบบจากที่นี่เลย  ทำให้เหมาะสมกับพื้นที่ มองว่ามันจะเกิดประโยชน์สูงสุดมากๆ พอมีสนามเด็กเล่นที่ไม่ธรรมดาแบบนี้ มันกลมกลืนและเขากับวิถีชีวิตของเด็กๆ มาก สิ่งที่เห็นอีกอย่างคือการให้คนในหมู่บ้านและโรงเรียนช่วย ชอบมากครับ” ครูยศกรกล่าว

“ผมมาช่วยพี่ๆ ตั้งแต่เมื่อวาน ขนไม้มาจากป่า ชอบที่พี่เขาทำงานกันไม่บ่นซักคำ” ด.ช.ยุทธชัย ชั้น ม.2 กล่าว “ชอบที่มีเครื่องเล่นตรงลำธาร เพราะมันอากาศดี เย็นสบาย เพื่อนๆ น้องๆ น่าจะมาเล่นกันสนุกครับ”

“หนูมาช่วยตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เห็นพี่เขามาทำอยากรู้ มาช่วยมัดเชือก อยากทำให้น้องๆ ได้เล่น หนูชอบมาดู เห็นพวกพี่เขาสามัคคีกันดีค่ะ ” ด.ญ. สาริกา (หน่อพอวา) ชั้น ม.1 กล่าว “ถ้าพี่ๆ เขาไม่อยู่ หนูก็จะช่วยกันดูค่ะ”

และเมื่อถามว่าอยากเล่นอันไหนเป็นพิเศษ เด็กๆ ตอบแทบจะทันที “จะเล่นทุกอันค่ะ/ครับ”

เรียนจากผู้อื่น รู้จากการลงมือทำ

เสียงสะท้อนของนักศึกษา

“พวกเราทำกันเองไม่ได้ ต้องมีชาวบ้าน มีนักเรียนมาช่วยทำ บางคนหมู่บ้านอยู่ไกลมากตื่นเช้ามืดเดินข้ามดอยมาไกลเพื่อมาช่วยเรา รู้สึกดีใจมาก”

“ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่นี่ทำงานเท่าเทียมกันมาก สลับกันทำได้เลย  เรารับรู้ถึงความอบอุ่นจากชาวบ้านและเด็กที่มาช่วยเหลือ และด้วยชาวบ้านมีทักษะ รู้จักพื้นที่จึงทำให้งานดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว และการที่เราได้มาเรียนรู้จากของจริง ซึ่งมันต่างจากที่เราอยู่ในห้องนั่งออกแบบ ใช้แค่ความคิดแต่ไม่ได้ลงมือทำ แต่หากเราลงมาทำ จะได้ทักษะ ได้ข้อมูล ได้ความรู้ ที่จะกลับมาที่ตัวเราเอง”

“รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ วิชาชีพของเราเอาไปเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และได้แบ่งปันโอกาสให้คนอื่น”

“เราได้เรียนรู้ทักษะการใช้เครื่องมือจากชาวบ้านที่นี่ เรียนรู้การใช้เงื่อนในการมัดเชือก (ชุดตาข่ายใยแมงมุม) จากคุณครูดอน ที่สอนการใช้เงื่อนต่างๆ ในการมัดเพื่อให้เชือกสามารถรับแรงได้และแข็งแรงขึ้น และยิ่งพอเราทำซ้ำๆ เราชำนาญ ก็สามารถสาธิตให้คนอื่นเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายมากเหมือนก่อน ก็รู้สึกภูมิใจ”

“ต้นทุนและโอกาส เด็กที่นี่มีความสามารถ มีความคิด ไม่ประดิษฐ์ มีทักษะดีมาก แต่ขาดโอกาส ทำให้เราตระหนักถึงตัวเอง บางทีเราก็มีโอกาส มีความสามารถ แต่เรามองข้ามมันไป พอได้มาเห็นน้องๆ เรารู้สึกเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ขึ้นมาก”