บันทึกการเรียนรู้ เพื่อย้ำเตือนตนเองของ นักศึกษาสถาปัตย์ สถาบันอาศรมศิลป์ ชั้นปีที่ 1 : ฤชุกร ปัญทีโป (เกตุ) ตลอดระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ กับการลงพื้นที่ใช้ชีวิตที่หมู่บ้านแม่กองคา ชนเผ่าปกาเกอะญอ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
“จะขอย้ำเตือนตัวเองในทุกๆปี ที่เราจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ว่าใครคือคนที่ดูค่อยแลคนทั้งประเทศ เสียสละตนเอง เพื่อดูแลรักษาป่าต้นน้ำ จะไม่หลงลืมพวกเขา “ชาวปกาเกอะญอ” ขอยกย่องด้วยหัวใจ นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ก้าวเข้าสู่หมู่บ้าน “แม่กองคา”
หัวใจมีสุขด้วยการพึ่งพาป่า
ชาวปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิตด้วยการ เลี้ยงหมู ไก่ วัว ควาย แบบหมู่บ้านนอกเมืองทั่วไป แต่มีสิ่งที่ไม่เหมือน จนถึงขั้นที่ทำให้เราได้รับความประทับใจและขอ “ยกย่อง” และขอให้กำลังใจ พวกเขา ถึงแม้ว่าสิ่งที่ชาวปกาเกอะญอกำลังทำอยู่ในขณะนี้จะไม่มีคนรู้ ไม่มีใครเห็น แต่สักวันหนึ่งจะต้องมีคนเห็นคุณค่าของพวกเขาอย่างแน่นอน
หมู่บ้านแม่กองคาแห่งนี้ตั้งอยู่ไกลแสนไกลติดกับฝั่งประเทศพม่า ซึ่งห่างไกลความเจริญ ห่างไกลสัญญาณโทรศัพท์ และ สัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับพวกเขามันไม่ใช่เรื่องสำคัญในชีวิต เพราะเขาก็มีความสุขอยู่กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติในทุกๆวัน จนเราเสียอีกที่กลับอิจฉาในความสุขที่พวกเขามี ความสุขที่ไม่ได้แลกมาด้วยเงินหรือสิ่งของราคาแพง ปัจจัย 4 ที่พวกเขามีมาพร้อมกับธรรมชาติ
พึ่งพา (ป่า) ด้วยความพอเพียง
บ้านจากป่า เขามีบ้านที่สามารถสร้างได้เอง ด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนในหมู่บ้าน ที่ต่างมาช่วยกันสร้าง จนทำให้บ้านหนึ่งหลังสามารถสร้างเสร็จได้ภายใน 1-2 วัน หรืออย่างมากก็ 1 อาทิตย์ ทำให้เราแปลกใจไม่น้อย เมื่อได้มาเห็นกับตาตัวเอง ชาวปกาเกอะญอ จะมีการเตรียมตัวทุกอย่างให้พร้อมก่อนที่จะสร้าง เช่น
“ไม้ไผ่” ตัวบ้านทำด้วยไม้ไผ่ ส่วนหลังคาบ้านก็จะใช้ใบไม้เป็นวัสดุในการมุงหลังคา
“ใบคาหาน” หรือ “ใบตองตรึง” ไม่ได้ใช้กระเบื้องหรือสังกะสี เหมือนคนเมืองอย่างเรา เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ใจมาก ๆ
ป่าใช้สอยพื้นที่แห่งชีวิต
ป่าใช้สอย เปลี่ยนได้ว่าเป็นแหล่งวัสดุ ชาวปกาเกอะญอ จะเข้าไปตัดไม้เพื่อมาสร้างบ้าน แต่พวกเขาก็ไม่ได้เอามาฟรีๆ นะ จะมีการปลูกต้นไม้ใหม่เพื่อทดแทน “สุดยอดเลย ใช่ไหมหล่ะ” การใช้บ้านในการสร้างบ้านก็ใช้แต่พอดี บ้านหลังไม่ใหญ่แต่เพียงพอกับจำนวนคนในครอบครัว สัมผัสได้ถึงความไม่ได้ฟุ่มเฟือย บ้านหลังไม่ใหญ่ แต่ลงตัวสำหรับทุกคนในครอบครัว ภายในบ้านจะมีครัวขนาดกะทัดรัด อยู่ใกล้ๆ กับที่นอน สะดุจตาที่มีช่องไว้เทเศษอาหาร เพื่อให้ไก่กิน ที่สำคัญเศษอาหารที่เทลงไป ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าเลย
การใช้ชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะผู้ชายชาวปกาเกอะญอ ทุกคนจะต้องทำการจักสาน ชาวบ้านเล่าว่าพวกเขาได้รับการฝึกสอนตั้งแต่เป็นเด็กชาย เรียนงานจักรสานจากพ่อแม่ และงานจักรสานนี้เองทำให้เราได้ตามไปรู้คุณค่าของงานไม้ ที่มีแหล่งต้นไม้ ผืนป่า ต้นน้ำ ลำธาร ผืนดิน สายลม แสงแดง เปลี่ยนเป็นลมหายใจ คุณค่าอนันต์ต่อชีวิตของคนที่นี่
เคยถามตัวเองว่า เครื่องจักรสานมีคุณค่าตรงไหน ? จนได้มีโอกาสลงมือเรียนรู้ การทำตอก ตอกคือการเหลาไผ่ให้เป็นเส้นเล็กๆ เพื่อจะได้นำมาสานได้ง่ายๆ ทำให้เราต้องหยุดซาบซึ้งเมื่อได้สัมผัสการทำครั้งนี้ว่า ก็นี่หล่ะคือคุณค่าของการทำงานที่มีความละเอียด ฝึกคนให้คนเอาใจใส่กับงาน คุณค่าอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงที่ความละเอียด ทำให้เรารู้จักความว่า ประณีต เอาใจใส่ด้วยตัวเราเอง
ป่าคือตู้กับข้าว
สำหรับเรื่องอาหารของคนที่นี่ ปลอดสารพิษ เป็นวัตถุดิบอาหารที่สะอาด ไม่มีสารอะไรเจือปน มหัศจรรย์ใจกับอาหารหลัก “หนู” อ่านไม่ผิดหรอก ชาวปกาเกอะญอ กินหนู รสชาติสุดยอดเลย และแน่นอนเป็นหนูที่สะอาด พิสูจน์ มาแล้ว รสชาติไม่ได้แย่อย่างที่คิด ที่สำคัญต้องกินกับ “ผักเผ็ด” รสชาติเผ็ดๆแสบๆลิ้น กินแล้วรู้สึกสนุกดี อาหารทุกชนิดมาจากป่า ป่าคือตู้กับข้าว ไม่ว่าจะเป็น หนู กุ้ง หอย ปู ปลา ที่อาศัยอยู่ในจากแหล่งน้ำในป่า ส่วน ประเภท ข้าวและผัก เช่น มัน เห็ด พริก มาจากการปลูกไร่หมุนเวียน ผสมสนานกันไปในไร่ โดยไม่ได้แบ่งส่วนว่าต้องเป็นส่วนๆ ซึ่งวิธีนี้ทำให้หน้าดินยังคงสภาพดินให้ดี
การรู้คุณค่าของชีวิตทุกชีวิตที่นำมาเป็นอาหาร ที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงการรู้คุณค่า นั้นมาจากคำว่า “รอ”
ชาวปกาเกอะญอ จะพูดเสมอว่าเขาจะรอให้มันฟื้นฟูก่อนค่อยกลับมาจับมากินเป็นอาหาร ทุกคนจะช่วยกันดูแลแหล่งน้ำทุกแห่ง การใส่ใจดูแลแทนการซื้อ
น้ำใจและการแบ่งปันอยู่ในตัวตน ไม่ว่าจะเดินผ่านไปบ้านไหน จะเห็นการล้อมวงกินข้าว และเสียงเรียกให้มากินข้าวด้วยกัน ทุกคนจดจ่ออยู่กับวงอาหาร อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา จะไม่มีการกินก่อน ไม่มีการเปิดทีวีหรือเล่นโทรศัพท์ กินข้าวกันไป พูดคุยกันถึงเรื่องต่างๆ อบอุ่นและมีความสุข”
ผักและสมุนไพรแทนยารักษาโรค
ชาวบ้านที่นี่สุขภาพแข็งแรงมาก บ้านที่เราไปอาศัยอยู่ มีคุณตา “พือ” (ภาษาปกาเกอะญอ) ท่านอายุ 88 ปีแล้วแต่ท่านยังเข้าป่าไปหาอาหารยังเดินไปไหนมาไหนได้แบบที่ไม่ต้องให้ใครช่วย ท่านไม่มีโรคประจำตัวและไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลย เมื่อใดที่รู้สึกว่าร่างกายเริ่มมีอาการเจ็บป่วยก็จะเข้าป่าไปหาสมุนไพรมารักษา เช่น ผักแพะ เป็นยาสมุนไพรแก้หวัดและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย อีกทั้งยังมีสมุนไพรอีกมากมายที่สามารถ รักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่ไข้หวัดจนถึงโรคมะเร็งเลย
“พือ” ภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า คุณตา
เสื้อผ้าทำจากฝ้าย
ไร่ฝ้าย ของชาวบ้านที่ช่วยการปลูกและดูแล นำฝ้ายมาทอเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ การทอผ้ามีวิธีการและขั้นตอนที่ละเอียด เมื่อได้ลองทำทุกขั้นตอนทำให้รู้ว่าต้องใช้ความทดทนมาก ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือการเก็บฝ้าย การนำมาทำความสะอาด เก็บเอาเศษที่สกปรกออกจากตัวฝ้าย จากนั้นนำไปตากแดด แล้วจึงนำไป เข้าเครื่องเพื่อเอาเม็ดฝ้ายออก ด้วย “โด่ะกุย”
โด่ะกุย” เครื่องที่ใช้แรงคนในการปั่นเอาเนื้อฝ้าย เป็นการคัดเม็ดฝ้ายออกจากเนื้อฝ้าย
“หน่อพื้อโบ” อุปกรณ์ที่ทำให้ฝ้ายไม่จับตัวกันเป็นก้อน มีรูปร่างคล้ายๆ คันธนู แต่มันทำจากไม้ไผ่และมีสายที่ทำจากหวายขึง นำมา ดีด ๆ จนฝ้ายไม่จับตัวกันเป็นก้อน หลังจากนั้นเราก็ม้วน ฝ้ายให้เป็นก้อนเรียกกันว่า “บีแบ”
จนมาถึงขั้นตอนที่เราคิดว่ายากที่สุด คือ ขั้นตอนปั่นฝ้ายให้เป็นเส้น เราเรียกเครื่องนี้ว่า “กาหะ” ต้องทำแบบเบามือที่สุด เพราะ ถ้าเราดึงแรงไปเส้นฝ้ายจะขาด ชาวบ้านแต่ละคนทำงานทอผ้า ปั่นฝ้ายกันเป็นตั้งแต่ เด็ก ๆ หญิงคนนี้ทำเป็นตั้งแต่อายุ 7 ขวบ มีการสอนกันตั้งแต่เด็กๆ เลย
การย้อมสีจากธรรมชาติ
ทุกคนได้มีโอกาสไปเดินป่า สัมผัสแห่งที่มาของสีธรรมชาติ ทำให้เราได้รู้ว่า ถ้าอยากได้สีนี้ต้องไปที่ต้นไม้ชนิดไหน เช่น สีชมพูแดง ก็จะต้องไปเอาเปลือกต้นหมี อีกทั้งยังรู้วิธีการทำให้สีติดผ้าได้ง่าย สีไม่ตกด้วยการใส่น้ำขี้เถ้า ได้เรียนรู้วิธีการย้อม แบบทั้งร้อนและเย็น แต่ย้อมร้อนจะทำได้เร็วกว่า
การย้อมร้อน
ก็คือการเอาเปลือกไม้ไปต้มในน้ำและเอาฝ้ายที่ปั่นมาต้มประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็นำไปตากในที่ร่มจนแห้ง ทุกอย่างได้มาจากธรรมชาติทั้งหมดเลย และ วิธีการการขึ้นด้าย เรียกว่า “ถะเบอะ” เป็นการเอาด้ายไปพันเพื่อที่จะขึ้นขนาดที่เราต้องการและสีที่เราต้องการ
การทอ
ได้ทดลองทอผ้า สนุกดี แถมยังได้ย่ามมาใช้ด้วย 1 ใบ ย่ามใบนี้ได้มาจากธรรมชาติล้วน ๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า ชาวบ้านเป็นคนทำเองทุกอย่าง การจักรสาน และ การทอผ้า วิถีชีวิตที่แท้จริงของ ของคนที่นี่จริงๆ ปกาเกอะญอ แม้ว่าตอนนี้จะเริ่มค่อยๆจางหายไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ แต่ก็ยังมีแต่คนเฒ่าคนแก่ที่พร้อมจะสอนลูกสอนหลาน ด้วยความภาคภูมิใจ
ธรรมชาตินำชีวิต ให้พบ ความ ดี งาม
ป่า คือบ้านของเขา “คนดูแลป่า ป่าดูแลคน” ป่าคือปัจจัยสี่ คติของปกาเกอะญอ
การใช้ป่าให้เหมาะสม โดยมีการจัดการด้วยหลักคิดง่าย ๆ ตรง ๆ ที่ว่า “เมื่อใช้ป่าแล้วก็ต้องรักษาป่าด้วย” ชาวปกาเกอะญอ มีการแบ่งป่าไว้อย่างน่าสนใจ ป่าใช้สอย ป่าทำกิน ป่าอนุรักษ์ ที่ไม่สามารถจะใช้อะไรจากที่นี่ได้แล้ว เนื่องจากเป็นป่าที่มีของหายากแล้ว เช่น ต้นไม้ใหญ่ สัตว์บางชนิด ป่าสุดท้าย คือ ป่าต้นน้ำ เป็นสิ่งที่ดีงาม น่ายกย่อง เพราะเขามีความตั้งใจในการรักษาป่าต้นน้ำ จุดเริ่มต้นของน้ำ น้ำที่นี่เป็นต้นทางของแม่น้ำสายต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านที่นี่เขาเป็นคนดูแลป่าต้นน้ำไว้ให้เราคนในเมือง ทำให้เรามีน้ำไว้กินและใช้
เวลานี้ ชาวปกาเกอะญอ กำลังจับมือกันซึ่งเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่คอยดูแลป่าต้นน้ำไว้ให้พวกเราโดยที่พวกเขาไม่ได้รับสิ่งตอบแทนใด ๆ ตัวอย่างการใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เราได้เรียนรู้ สิ่งต่าง ๆ จากพวกเขามากมาย หวนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองและการใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างพวกเรามากมาย ว่าอะไรบ้างที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนชีวิตเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตอย่างรู้คุณค่า และ ทำชีวิตนี้ให้มีความหมายเพื่อคนอื่นได้อย่างพวกเขา
รอยยิ้มของชาวบ้านแม่กองคา เป็นรอยยิ้มที่เราไม่มีวันลืมเลือนไปจากใจ เพราะทุกรอยยิ้มล้วนมาจาก ความจริงใจ และพร้อมที่จะให้แบบที่ไม่ต้องการผลตอบแทน ให้ทั้งความรัก ความรู้ ทุกคนที่นี่คือผู้จุดประกายให้เราอยากที่จะประพฤติตนให้เป็นคนที่ดีกว่านี้ การได้มาอยู่ที่นี่ถึงแม้ว่าภาษาพูดไม่เหมือนกันแต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะเราใช้การคุยกันด้วยความรู้สึก สายตา และรอยยิ้มเป็นการสื่อสาร ขอให้คำมั่นสัญญาว่า พวกเราจะกับไปสืบสานและเผยแพร่วิถีชีวิตที่มีคุณค่าของ ชาวปกาเกอะญอแห่งแม่กองคานี้ และจะขออนุรักษ์หมู่บ้านนี้ไว้ในใจ ไม่ทอดทิ้งไปจากความรู้สึก และ ขอให้กำลังใจไปพร้อม ๆ กับ กลับไปปรับเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตนเองให้มีคุณค่า มีหัวใจและความรู้สึกต่อการใช้ชีวิตใหม่ จะไม่ทำให้ผิดหวัง ปกาเกอะญอ แห่งแม่กองคา ต้นแบบชีวิตเพื่อการมีหัวใจใหม่ “ถี่เลาะซะเลอะซุคีเค่าะ” แล้วเจอกันใหม่
นักเขียน
ฤชุกร ปัญทีโป (เกตุ)
นักศึกษาหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต
ชั้นปีที่ 1 รุ่นที่ 4 สถาบันอาศรมศิลป์