ชนะเลิศการประกวดแบบรัฐสภาแห่งใหม่
ในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการจัดการประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้่น ท่ามกลางสถานการณ์ความพลิกผันทางการเมือง ของสังคมไทย นาย ธีรพล นิยม จึงได้เป็นผู้นำในการรวมตัวกับมิตรสหายทางวิชาชีพอีก 4 บริษัท เข้าร่วมใน“วาระแห่งชาติ” ครั้งสำคัญในนามทีม “สงบ1051” ด้วยความุ่งหวัง ที่จะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีตอบแทนคุณแผ่นดินในเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประกวดแบบโดยได้ร่วมกัน กำหนดเป้าหมายเชิงคุณค่าเพื่อสร้างสรรค์อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า ดังจดหมายชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมประกวดแบบ
การตระหนักในเป้าหมายที่ทรงคุณค่าจึงจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่บ้านเมือง
ผู้ออกแบบจึงทุ่มเทและเพียรพยายามเต็มกำลังสติปัญญาเพื่อค้นหา เป้าหมายที่ทรงคุณค่าที่สุด ในการสร้างสรรค์งาน จนเกิดเป็นคำถามที่สำคัญดังนี้
- ทำอย่างไร ให้งานสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นศูนย์รวมจิตใจที่สามารถพลิกฟื้นจิตวิญญานของคนในชาติ เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ข้ามพ้นวิกฤต ทางจิตวิญญาณที่รุนแรงที่สุด คือ วิกฤตทางศีลธรรม ได้
- ทำอย่างไร ให้งานสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ มีอัตลักษณ์ไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่าของแผ่นดินและเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางที่สำคัญ ของชาวโลก
- ทำอย่างไร ให้งานสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นเอกภาพระหว่างรัฐกับประชาชนได้
- ทำอย่างไร ให้งานสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ ทำให้ก่อเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อการเรียนรู้ครั้งใหม่ขึ้นในสำคมไทย และสร้างคุณค่าและสำนึกของ การร่วมกัน คิดร่วมกันสร้างจากคนไทยทั้งชาติ
ผู้ออกแบบเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ที่ตอบโจทย์ 4 ข้อนี้ได้เท่านั้น จึงจะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า มีประโยชน์สูงสุดเป็นขวัญของญาติบ้าน เมือง และสามารถปักธงสถาปัตยกรรมไทยพร้อมยกสถานะของรัฐสภาไทยในเวทีโลกได้อย่างสง่างาม ดังนั้นภารกิจของเรา คือ การศึกษาค้นคว้าเพื่อคัดสรรภูมิปัญญาสูงสุด ของชาติที่สามารถตอบโจทย์ 4 ข้อนี้
เราจึงพบว่าภูมิปัญญาที่สูงสุดนั้น คือ งานสถาปัตยกรรมไทยตามคติ ไตรภูมิ ในพุทธวิถี ที่สร้างมลฑลศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัปปายะสถานนำบ้านเมืองสูสภาวะ“บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้น ใจเมือง” ที่พระมหากษัตริย์ และบรรพบุรุษของเราในอดีตได้สถาปนา สืบสานเพื่อให้บ้านเมืองสงบร่มเย็นมาต่อเนื่องยาวนาน เป็นภูมิปัญญาสูงสุดที่ สามารถบุรณาการตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อ ได้อย่างน่าอัศจจรย์ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่นี้ มีกระบวนการสำคัญคือการศึกษาและถอดรหัสสถาปัตยกรรม แบบแผน “ไตรภูมิ” จากสถาปัตยกรรมด้านจิตวิญญาณของไทยมาใช้ในการออกแบบวางผัง เพื่อให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred place) เป็นสัปปายาสภาสนามที่เอื้อให้ระลึก ถึงความพิสุทธิ์และการใช้สติปัญญาในการประกอบกรรมดี เช่น การนำสัญลักษณ์ “ขวัญ” (ปราณ,จิต) มาเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบห้องประชุม ส.ส. และ ส.ว. ซึ่ง เปรียบเสมือน “ขวัญ” (จิต) ของรัฐสภาและของประเทศ และที่สำคัญที่สุด คือการน้อมนำงานครูทางสถาปัตยกรรมไทย มาใช้เป็นสัญลักษณ์ ณ ตำแหน่งศูนย์กลางของอาคาร เป็นแกนกลางที่มีความสำคัญสูงสุดตามคติไตรภูมิ สื่อถึงเสาหลักของประเทศไทยที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับโลกียภูมิอันได้แก่ประชาชน (ประชาธิปไตย), พระมหากษัตริย์ (ชาติ) และพระสยามเทวาธิราช(สิ่งศักดิ์สิทธิ์) ไปจนถึงระดับโลกุตรภูมิ คือพระศาสนา ซึ่งในการถอดรหัสงานครูมาออกแบบสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญยิ่งนี้ คณะผู้ออกแบบได้ทำงาน ร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี และ อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติด้านสถาปัตยกรรมไทย
ด้วยสภาพที่ตั้งที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญที่เป็นเสมือนหัวใจของชาติไทย ในการออกแบบจึงให้ความสำคัญกับ ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่าง สถาปัตยกรรมและแม่น้ำเจ้าพระยาได้ผลเป็นการดึงพลังและศักยภาพของแม่น้ำมาส่งเสริมภาพลักษณ์ ที่สง่างามของสถาปัตยกรรมรัฐสภา ให้เป็นจุดหมายตาแห่งใหม่ (Landmark) ที่มีความสำคัญของภูมิทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้สถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ยังถูกออกแบบอย่างถี่ถ้วนด้วยผู้เชี่ยญชาญที่ทำงานร่วมกันกับสถาปนิก และวิศวกรทุกสาขาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้อาคารนี้เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดอันหนึ่งของอาคารที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นอาคารที่ยั่งยืน