Culture

“อาศรม” หมายถึง สำนัก ที่ทำงาน ที่อยู่ของปราชญ์ผู้รู้
“ศิลป์” หมายถึง ศิลปะ วิทยาการ ดังนั้น
“อาศรมศิลป์” จึงหมายถึง สำนักของปราชญ์ทางศิลปวิทยาการ ซึ่งในสมัยก่อน ลูกศิษย์จะต้องไปฝากตัวเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่แต่เพียงตัววิชาความรู้เท่านั้น แต่ศิษย์จะได้มีดอกาสใช้ชีวิตร่วมกับอาจารย์ ได้ซึมซับ “วิถี” การดำเนินชีวิตของอาจารย์ด้วย

การใช้ชีวิตร่วมกันทั้งระหว่างผู้สอนกับผู้สอน ผู้สอนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียน ก่อให้เกิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทักษะ ความรู้ นำไปสู่การปรับตัวและเรียนรู้ร่วมกันอย่างกัลยาณมิตร อันเป็นที่มาของโครงสร้าง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ของสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรผู้ชำนาญการในศาสตร์สาขาต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกันในลักษณะสหสาขาวิชาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน อีกทั้งเป็นการขยายโลกทัศน์ขอบเขตความรู้และความเข้าใจของตนที่มีต่อการปฏิบัติงานให้กว้างขวางและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

มงคลธรรม

เรียนรู้ที่จะรู้จักตนเอง ด้วยการฝึกปฏิบัติบนการทำงาน มุ่งหมายใจไปสู่การเรียนรู้ที่ฝึกฝนการขัดเกลาจิตใจตนเองเพื่อไปสู่การพัฒนาปัญญา โดยมีพื้นที่กิจกรรมเชิงการปฏิบัติการทางจิตใจ ด้วยวิถีการปฏิบัติภาวนา สวดมนต์ ประจำทุกวันศุกร์

สุนทรียธรรม

สัมผัสความงามทั้งกายและใจด้วยความเบิกบาน บนกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะ จริยศิลป์ การปั้นดิน การทำตุง การเขียนภาพลายเส้นแบบสัมผัส Contour วาดเส้นสัมผัสใจ ทำงานศิลปะไปพร้อมกับการเจริญภาวนา รู้จักภาวะจิตใจตนเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้เท่าทันกุศลและอกุศลใจอย่างละเอียดประณีต โดยเรียนรู้ผ่านศิลปะและประสบการณ์ตรง รวมทั้งยังเป็นการปรับสมดุลของฐานกาย ฐานความคิดและฐานจิตใจ ให้เกิดความสัมพันธ์กันจนเกิดเป็นปกติ

วัฒนธรรม

อยู่อย่างเป็นชุมชนการเรียนรู้ พี่น้องและผองเพื่อน อย่างเป็นกัลยณมิตร ให้การร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมลงมือทำงาน ด้วยความพร้อมเพรียง รับรู้ รับฟัง จากบุคคลและสิ่งต่างๆ รอบตัว ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ เรียนรู้ผ่านกันและกันด้วยใจที่ใคร่ครวญ สร้างความเข้มแข็งเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันจนเป็นวิถี