ศึกษาศาสตร์ อาศรมศิลป์ และ โรงเรียนรุ่งอรุณ ให้การต้อนรับ ร่วม ประชุมหารือวงพัฒนาชุมชนครูมืออาชีพ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการจัดการศึกษาด้วยตนเอง กลุ่มโรงเรียนบนพื้นที่สูง จ. แม่ฮ่องสอน 7 แห่ง และ 1 ศูนย์การเรียนรู้หญ้าแพรกสาละวิน ซึ่งเป็นพื้นที่เขต สพป. 2 แม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านแม่ลิด โรงเรียนห้วยวอก โรงเรียนห้วยห้า โรงเรียนอุมลอง โรงเรียนห้องกระต่าย โรงเรียนบ้านแม่กองคา โรงเรียนบ้านสบเมย
โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้แทนผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน และศึกษานิเทศก์ รวมทั้งสิ้น 8 ท่าน ร่วม ชุมชนพัฒนาการบริหารการเรียนรู้และการจัดการศึกษามืออาชีพ
สิ่งสำคัญมากที่พบในวงประชุมอย่างมีส่วนร่วมครั้งนี้ คือ “ได้ใจ” คือความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันได้ชื่นชมยกย่องในความเสียสละและ “สู้เพื่อเด็ก” ของกันและกัน ได้ร่วมกันกระตุ้น ให้กำลังใจ สร้างพลังบวก เพิ่มเติมความกล้าเปลี่ยนแปลง และในที่สุด ได้ร่วมกันทำความเข้าใจวิธีการปรับเปลี่ยนเวลาเรียน ตารางเรียน/กิจกรรม และแนวทางการจัดทำแผนการเรียนหน่วย “บูรณาการสู่ชีวิต” เพื่อไปบรรลุเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาคน พัฒนาชุมชน ตามบริบทของแต่ละโรงเรียนไปพร้อมกัน
โดยหลังจากนี้ จะรีบกลับไปพาครูลงมือทำทันที มีไฟ และมองเห็นแนวทางการปรับปรุงวิธีการจัดการให้เกิดผลเชิงคุณภาพต่อ เด็กนักเรียน ให้ชัดเจนขึ้น
เริ่มด้วยการเช็ค สำรวจทุนเดิมของแต่ละโรงเรียนกันก่อน ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจ เห็นภาพรวมร่วมของปัญหา อุปสรรค รวมทั้งความพยายามที่แต่ละโรงเรียนได้ใช้นวัตกรรมหรือวิธีการเรียนรู้บางอย่าง เพื่อช่วยนักเรียนให้มากที่สุด เท่าที่ทำได้ไปแล้ว โดยเฉพาะ เรื่อง การเรียนภาษาไทย
ได้พบว่า ผอ.และครูเหล่านี้มีจิตใจที่เสียสละและอดทนมากเหลือเกิน เพื่อเผชิญปัจจัยแวดล้อมที่ยากลำบาก เช่นการเดินทาง ที่ โรงเรียนบ้านสบเมย ต้องจ้างเรือ รับ-ส่ง นักเรียน จากหย่อมบ้านที่รับผิดชอบ ล่องน้ำสาละวิน มา โรงเรียน ไป-กลับครั้งละ 3,000 บ. จึงทำให้ต้องจัดหอพัก นักเรียน (ในอาคารเรียนบ้าง เรือนพักเท่าที่มีบ้าง) นักเรียนจะมาโรงเรียนเย็นวันอาทิตย์ และกลับบ่ายวันศุกร์ ครูต้องคอยดูแลกันตลอด และผอ.ต้องขับรถมารับอาหารจากในเมือง ไป4 ชม.- กลับ4ชม. สัปดาห์ละครั้ง ใช้รถตัวเอง แถมในโรงเรียนไม่มีไฟฟ้า ต้องปั่นไฟใช้ เครื่องใช้ไฟฟ้า
ต่างใช้ได้อย่างจำกัดมาก ส่วน โรงเรียน อื่นๆ ก็เจอสภาพพื้นที่ยากลำบากไม่แพ้กัน บางแห่งเช่นบนดอยสูงแต่ขาดน้ำ ฯลฯ ดังนั้น ผอ.คือหลักสำคัญในการบริหารได้ทุกรูปแบบ อย่างแท้จริง
ในช่วงบ่ายเริ่มด้วยการระบุเป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษาในบริบทเหล่านี้ ด้วยคำถามว่าเราได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจไปเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อะไรในที่สุดได้ลงมาที่ตัวเด็กซึ่งผูกโยงอยู่กับครอบครัว ชุมชนอย่างแยกไม่ออก การจัดการศึกษาที่นี่จึงต้อง เป็นไปเพื่อการพัฒนาคนพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน
จากนั้นจึงได้หารือกันเพื่อแสวงหาวิธีการจัดการบริหารเวลาเรียน ที่มีประสิทธิภาพที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดทั้งหลาย สุดท้ายได้ข้อเสนอที่ลงตัว คือ เวลาเรียนต่อ 1 ปีการศึกษา อย่างต่ำ จะไม่ให้น้อยกว่า 180 วัน เหตุที่ไม่ครบ 200 วันนั้น คือเผื่อสำหรับกรณี พ่อแม่พาลูกไปรับจ้างเก็บลำไย หรือต้องทำโครงการ / ภารกิจ / กิจกรรมบางอย่างจากส่วนกลางที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ก็จะรวมกันเสนอต่อเขตฯ ขอยกเว้นบางโครงการมายัง สพฐ. แม้แต่เรื่องคูปองพัฒนาครู คนละ 10,000 บ. นั้น ซึ่งไปผูกไว้กับการพิจารณาผลการทำงาน คล้ายบังคับโดยปริยาย แต่ในสภาพจริง ครูเดินทางออกจากรร.มาทุกๆเสาร์-อาทิตย์ไม่ได้ หรือไป-กลับไม่ทัน
อีกทั้งหลักสูตรที่จำเป็นต่อการเสริมสมรรถนะครูใน โรงเรียน เหล่านี้โดยตรง ก็หาไม่ได้ในละแวกนั้น จึงอาจจะเสนอขอปรับเป็นการอบรมพัฒนาในโรงเรียน หรือในช่วงปิดภาคเรียน ร่วมกันในกลุ่ม เป็นต้น
เมื่อได้ 180 วันเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วได้ช่วยกันแจกแจง
ลงในแต่ละเทอม แต่ละสัปดาห์ แต่ละวันทำให้ต้องเลือกสาระการเรียนพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดก่อน 3 สาระ คือ ภาษาไทย(ภาษาถิ่น) ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ส่วนที่เหลือไปรวมอยู่ในหน่วยการเรียนบูรณาการสู่ชีวิต
จากนั้นทางรุ่งอรุณได้ช่วยให้ภาพของการทำหน่วยบูรณาการดังกล่าว ทั้งดูคลิปวีดีโอหน่วยทำนา ดูผลงานนักเรียน สิ่งพิมพ์เล่มรายงานที่ไปศึกษาแหล่งต้นน้ำสบลาน เชียงใหม่ ฯลฯ ได้สนทนากับเจ้าของหน่วยการเรียนนั้น ดูการเรียนคณิตศาสตร์ที่เด็กสนุกและชอบ เรียนอย่างเข้าใจ ตลอดจน สิ่งที่ ผอ.เหล่านี้อยากได้ คือ แบบแผน / template ต่างๆ ที่ใช้ในการออกแบบแผนการเรียนนั้นๆ
สุดท้าย ได้พาทดลองลงมือทำโดยใช้ template อย่างง่าย ที่เรียกว่า one-page lesson plan หน่วยบูรณาการสู่ชีวิต ผอ.ทั้งหลายเข้าใจทันทีถึงการทำ backward design และเข้าใจวิธีการกำหนดเป้าหมาย ASK ในแผนการเรียน พร้อมๆกับร่องรอยการประเมินผลตามสภาพจริง และกระบวนการเรียนแบบ active learning ที่โจทย์การเรียนรู้มาจากครูและนักเรียนร่วมกัน ต้องบอกว่า กลุ่มผู้บริหารกลุ่มนี้ เรียนรู้เร็ว และกระตือรือร้นมาก ทำให้เกิดพลังที่เขาจะไปช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ในการที่จะไปขับเคลื่อนทีมครูในแต่ละโรงเรียน และการทำความเข้าใจกับพ่อแม่เด็กนักเรียนให้เห็นว่าลูกมีพัฒนาการจากการเรียนได้จริง และคิดเป็น ทำเป็น มากกว่าที่เราคิด
ส่วน ดร.สุรพล ศรีศิลป์ ศึกษานิเทศก์ ก็เป็นคนแม่ฮ่องสอนโดยกำเนิด โตที่นั่นมีใจร่วมกับทีมโรงเรียนเหล่านี้จะเป็นผู้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา กลุ่มนี้ให้เป็นตัวอย่างเพื่อการหาโมเดลการขยายแนวทางการพัฒนาการศึกษาพื้นที่กลุ่มโรงเรียนบนพื้นที่สูงเพื่ออนาคตต่อไป