โครงการหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) บนพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง สำหรับ EEC คือ การพัฒนาคนในจังหวัดเหล่านี้ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
“ระยอง” เป็นจังหวัดที่ขับเคลื่อนเรื่องการสร้างคนรับ EEC ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด โดย สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิสยามกัมมาจล และมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ร่วมสร้างกระบวนการให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเป้าหมายที่จะจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ตอบโจทย์บริบทของระยองที่ต้องการให้เป็นเมืองน่าอยู่ และเป็นต้นแบบในการผลิต พัฒนากำลังคนสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน แผนดังกล่าวประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การสร้างกลไกขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการศึกษา การสร้างแพลทฟอร์มทางการศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน การปรับกระบวนทัศน์ทางการศึกษาของคนระยอง การสร้างโรงเรียน ห้องเรียน บุคคลต้นแบบการจัดการศึกษาจังหวัดระยอง และการพัฒนาหลักสูตรระยอง (Rayong-MARCO) แหล่งเรียนรู้ และศูนย์สร้างสรรค์ภูมิปัญญาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาศักยภาพของคนระยอง
ถือเป็นจังหวัดแรกที่มียุทธศาสตร์การศึกษาเป็นของตัวเอง
รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ให้ความเห็นต่อการจัดระบบการศึกษาในระยองว่า พื้นที่นวัตกรรมแบบระยองขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า จึงต้องสร้างให้เกิดการจัดการศึกษาใหม่ ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ หลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การวัดประเมินผล และการพัฒนาครู เพื่อบูรณาการการเรียนรู้สู่ชีวิตผ่านโครงงานการเรียนรู้ที่หลากหลายบนปรากฎการณ์จริง ปรับวิธีการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ที่เป็นจริง ซึ่งในระยองมีอยู่อย่างมากมาย ทั้งแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและสิ่งสร้างจากมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ต้องมาอยู่ในการเรียนรู้ของคนระยอง ตั้งแต่เด็กเล็ก จนกระทั้งวัยสูงอายุ โดยเนื้อหาที่สำคัญมากสำหรับระยอง คือ การเรียนรู้พัฒนาการของเมือง เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงบทบาทของตนที่มีต่อเมือง และเรียนรู้ว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้อย่างไร
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมแกนนำปฏิรูปการศึกษาจังหวัดระยอง นำโดยผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา สพป. 2 ระยอง คุณธงชัย มั่นคง พร้อมด้วยศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการโรงเรียนนำร่อง ได้เข้าร่วมการประชุม
เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัดระยอง ที่สถาบันอาศรมศิลป์ กรุงเทพมหานคร โดยนำแนวคิดหลัก 5 ประการของหลักสูตรระยองที่อยู่ภายใต้ตัวอักษรย่อว่า MARCO มาให้ความหมายใน
เชิงเป้าหมายที่ชัดเจน ที่ควรจะเกิดกับเด็กและเยาวชนระยองในอนาคตอันใกล้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
M MANPOWER
รู้คิดการบ้านการเมืองอย่างเท่าทัน
และสามารถสื่อสารได้ 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม รวมทั้งต้องทันภาษา Digital และภาษาทางคณิตศาสตร์ ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเมืองอุตสาหกรรมสมัยใหม่
A ANCESTOR
รู้รากเหง้าและสามารถต่อยอดภูมิปัญญา
วิถีชีวิต เอกลักษณ์ และขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของระยอง พร้อมทั้งสามารถต่อยอดภูมิปัญญาเหล่านี้ให้
ร่วมสมัย เหมาะสมกับบริบทใหม่และการเปลี่ยนแปลง
R RESOURCE
รู้คุณค่าและมีความสามารถในจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่อย่างหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นป่าเขาหรือทะเล โดยรู้จักบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
C CITY PLANNIG
รู้เรื่องเมืองและความเป็นพลเมืองระยอง
ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ที่มีเป้าหมายสู่การเป็นเมืองนานาชาติมาตรฐานโลก เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในอาเซียน และรู้บทบาทของตนเองในฐานะที่เป็นพลเมืองของระยอง ที่ต้องก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเมือง
O OCCUPATION
รู้อาชีพเมืองระยอง
มีสมรรถนะด้านการประกอบอาชีพในเมืองอุตสาหกรรมทันสมัย รู้จักสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิผล รวมทั้งลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำการเกษตรสมัยใหม่ที่ไม่ทำลายฐานทรัพยากร
จากการได้ช่วยกันระดมความคิดอย่างเต็มที่แล้ว กลุ่มแกนนำปฏิรูปการศึกษาระยอง ยังได้เยี่ยมชมกระบวนการเรียนรู้และการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนการศึกษาทางเลือกชั้นนำของไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและนำไปปรับใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนระยอง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ กระบวนการเรียนรู้ “กรุงเทพฯ” ของนักเรียนรุ่งอรุณ ในรูปแบบโครงงานบูรณาการ ที่เห็นความเชื่อมโยงจากตนเองไปสู่ชุมชน เริ่มต้นจากบ้านของตนเองอยู่ในเขตไหน จนถึงการลงพื้นที่จริงในเขตต่างๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อค้นหาของดีที่ควรอนุรักษ์ไว้ พร้อมทั้งรู้ทันปัญหาของเมืองขนาดใหญ่ เป็นการเรียนรู้จากสถานที่จริงหรือปรากฎการณ์จริง ซึ่งนักเรียนที่ระยองก็สามารถรู้เรื่องเมืองระยองได้ด้วยกระบวนการที่ไม่ต่างกัน
คุณธงชัย มั่นคง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 แกนนำคนสำคัญในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การศึกษาระยอง กล่าวภายหลังการประชุมและเยี่ยมชมโรงเรียนรุ่งอรุณว่า
“เพียง ผอ.โรงเรียนพลิกวิธีคิด และให้ความเข้มข้นด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้เด็กได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง เราก็จะสามารถเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้แบบเด็กรุ่งอรุณ ให้เป็นแบบของระยองได้”
เส้นทางสู่เมืองอุตสาหกรรมใหม่ ภายใต้โครงการ EEC คงไม่ไกลเกินฝัน หากคนระยองลุกขึ้นมาปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดตนเอง หมดยุคเรียนรู้ทั่วโลก แต่ไม่รู้เรื่องบ้านตัวเองแล้ว ก้าวต่อไปของระยองจึงเป็นก้าวใหม่ที่น่าจับตามองของกระบวนการสร้างคนเพื่อสร้างชาติ