Department of Education, major in Early Childhood

Previous
Next

ครูปฐมวัยเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจคนแรกในชีวิต
และเป็นผู้สร้างรากฐานจิตใจที่มั่นคง ให้กับอนาคตของเด็กตลอดไป

เน้นการจัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การฝึกฝนผู้เรียนให้มีคุณสมบัติของผู้ใฝ่เรียนรู้ รู้จักใคร่ครวญต่อสิ่งที่ตนเผชิญอย่างมีสติผ่านการเจริญภาวนา เพื่อบ่มเพาะจิตวิญญาณของครูที่ดี รวมถึงการมีทักษะและสายตาในการสังเกตเด็กอย่างละเอียด ปลูกสำนึกความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้แก่สังคมไทยต่อไปในอนาคตโดยสาขาวิชาทางศึกษาศาสตร์มีกระบวนการจัดการเรียนรู้จากการทำงานเป็นฐาน (Work-based Learning) การจัดการเรียนรู้แบบใฝ่รู้ (Active Learning) การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) และการเจริญสติ (Mindfulness) เพื่อผลิตครูที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อหลักสูตร
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
Bachelor of Education Program in Early Childhood Education

ชื่อปริญญา
ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) ศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
ชื่อย่อ (ภาษาไทย) ศษ.บ. (การศึกษาปฐมวัย)
ชื่อเต็ม (ภาษาอังกฤษ) Bachelor of Education (Early Childhood Education)
ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ) B.Ed. (Early Childhood Education)






คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

ผู้เข้าเป็นนักศึกษาต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับขั้นปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ไม่จำกัดสาขาวิชา และมีคุณสมบัติทั่วไปเป็นไปตามข้อกำหนดของสถาบันอาศรมศิลป์ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการบริหารหลักสูตร

• มีสุขภาพจิตดี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นอุปสรรคในการศึกษา
• ผ่านการสอบคัดเลือกวิชาภาษาไทยตามเกณฑ์ของสถาบันอาศรมศิลป์
• ผ่านการสอบสัมภาษณ์ตามเกณฑ์ของสถาบันอาศรมศิลป์

เหมาะกับใคร?
• เหมาะกับผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
• เหมาะกับครูอนุบาลหรือพี่เลี้ยงเด้กก่อนวัยเรียนที่ยังไม่มีวุฒิปริญญาตรี ปฏิบัติงานอยู่ในสังกัดของรัฐ เอกชน และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

เรียนจบตามหลักสูตร 5 ปี สอบเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพครู และสามารถเป็นครูอนุบาลและนักวิชาการให้ความรู้กับผู้ปกครองได้อย่างมีคุณภาพ

รายวิชาที่เรียน

คำอธิบายรายวิชา
ก. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป
1. กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ASI 30101 การเรียนรู้สถานการณ์โลกและการสร้างจิตสำนึกพลเมือง 3 (3-0-6)
Study on Global Issue and Instilling Civic Conscience
ศึกษาสถานการณ์ปัญหาของโลกในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และกระแสโลกาภิวัตน์ บริโภคนิยม และการเติบโตของการเปิดเสรีทางการค้าและการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากนานาประเทศภายในระบบเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารและวัฒนธรรม ในระบบสังคมโลกรวมถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ลดลง ความหมาย ความสำคัญ และบทบาทการเป็นพลเมืองในระดับโลก สังคม และชุมชนท้องถิ่นต่อการ เข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยบรรเทาสถานการณ์ปัญหาของโลกในปัจจุบัน บนฐานสิทธิและหน้าที่ ตามกรอบรัฐธรรมนูญ และจิตสาธารณะรวมถึงการสร้างจิตสำนึกพลเมืองผ่านระบบคุณค่าที่สอดคล้องวิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

ASI 30102 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย 3 (3-0-6)
Introduction to General Law
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลักกฎหมายเบื้องต้น ได้แก่ ที่มา ประเภทความสำคัญ การจัดทำ การใช้ การยกเลิก การตีความและกระบวนการยุติธรรม ศึกษากฎหมายแพ่งพาณิชย์ กฎหมายอาญา และ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอาญา เฉพาะส่วนที่เป็นความรู้เบื้องต้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน พ.ศ.2551 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครู คือ เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู สาระเนื้อหาจรรยาบรรณของวิชาชีพครูและการปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพครู รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และกฎหมายแรงงาน

ASI 40103 การพัฒนาคุณภาพชีวิตและครอบครัวเพื่อสังคมที่ยั่งยืน 3 (1-4-4)
Development of Quality of Life and Family for Sustainable Society
พัฒนาการของชีวิตในช่วงวัยต่าง ๆ การศึกษาที่แท้กับการพัฒนาชีวิตในแต่ละช่วงวัย ความหมายและความสำคัญของการศึกษาที่แท้ บทบาทของครอบครัวในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ไปสู่ความสุขและความเจริญ

ASI 40104 ไทยศึกษา 3 (3-0-6)
Thainess
ศึกษาวิเคราะห์ความหมาย ลักษณะความเป็นไทยผ่านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ชาติไทย การเมืองการปกครอง วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี คติความเชื่อและศาสนาที่มีผลต่อการหล่อหลอมความเป็นไทย พัฒนาการของความเป็นไทยและข้อสรุปในการเผชิญกับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณค่า

2. กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ASI 10201 มงคลชีวิต 3 (3-0-6)
Contemplative Practices
การฝึกปฏิบัติการ เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาชีวิตจากภายในจิตใจด้วยการฝึกฝนบ่มเพาะญาณทัศนะ โดยอาศัยกัลยาณมิตร และชุมชนที่สมานฉันท์ผ่านกระบวนการแห่งการภาวนา 4 คือ ศีลภาวนา กายภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา อย่าสม่ำเสมอต่อเนื่อง

ASI 10202 วิถีสุขภาวะแบบองค์รวม 3 (3-0-6)
Holistic Well-Being Approach
การฝึกปฏิบัติการในวิถีชีวิตประจำวัน ด้วยความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพโดยการเอาใจใส่ดูแล อิริยาบถพฤติกรรม มีสติในการกินอยู่ ที่เอื้อต่อสุขภาพอนามัย มีความรู้ถึงสาเหตุและลักษณะอาการของความเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง หรือแบบปัจจุบันทันด่วน รวมทั้งอุบัติภัยต่าง ๆ และรู้วิธีที่จะป้องกัน แก้ไข หรือลดความเสี่ยง พร้อมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้เป็นผู้ซึ่งดูแลตนเองในการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และมีภูมิต้านทานที่ดี

ASI 10203 จิตวิทยาทั่วไป 3 (3-0-6)
Basic Psychology
ความเป็นมาขอบเขตของวิชา พฤติกรรมและการเกิดพฤติกรรมของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ วิธีการศึกษาทางจิตวิทยา การเจริญเติบโตและพัฒนาการมนุษย์ อิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมของอินทรีย์ในรูปของการรับรู้ บุคลิกภาพ อารมณ์ การจูงใจ สติปัญญา การเรียนรู้และความสามารถต่าง ๆ ตลอดจนการบำบัดรักษาทางจิตวิทยา

ASI 10204 อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของโลก 3 (3-0-6)
Great Civilizations of the World
ศึกษาประวัติศาสตร์ อารยธรรมโลกที่เคลื่อนไปตามยุคสมัยแต่โบราณกาลมาจนถึงสังคมโลกที่เราดำรงอยู่ในปัจจุบัน อารยธรรมสำคัญที่ควรจดจำเป็นเครื่องระลึก เรียนรู้ชีวิต ทั้งอารยธรรม ที่นำความเจริญรุ่งเรืองของการตั้งบ้าน สร้างเมืองด้วยศิลปวิทยาการ ทั้งอารยธรรมที่เกิดจากศาสนาต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ชี้นำจิตใจ ความคิด การกระทำของมนุษย์และสังคม สู่ยุคอารยธรรมที่สำคัญ 3 ยุค ได้แก่ 1 ยุคอารยธรรมที่มนุษย์มุ่งครอบครอง ล่าอาณานิคม จนถึงการค้าทาส 2 ยุคสงครามโลก ที่มนุษย์ฆ่ากันเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกขนาดใหญ่ 3 ยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนวิถีชีวิต และสังคมอย่างมากและรวดเร็ว สร้างความเจริญทางวัตถุ แต่ขณะเดียวกันทำลายชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัญหาวิกฤตของโลกปัจจุบัน จึงต้องประมวลความรู้ของอารยธรรม ที่ยิ่งใหญ่ ทั้งมวลที่มีทั้งการสร้างสรรค์ และการทำลาย เข้าสู่ฐานความคิดใหม่ โดยตั้งจิตไว้ในทางที่ถูกต้องดีงาม สอดคล้องกับชีวิต สังคม และธรรมชาติ เข้ามาแก้ไข สร้างอารยธรรมที่เกื้อกูล ดำรงสรรพสิ่งในโลกไว้ และนำไปสู่สันติสุขให้จงได้

3. กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ASI 20301 ธรรมชาติศึกษา การเปลี่ยนแปลงและการธำรงรักษา 3 (1-4-4)
Nature-Study, Movement and Preservation
สมดุลของโลกธรรมชาติ และสรรพสิ่งปัจจุบัน การรู้จักรูปทรง โครงสร้างของธรรมชาติ การคงสภาพสืบเนื่อง การเปลี่ยนแปลง บทบาทหน้าที่ของสรรพสิ่ง ระบบนิเวศ ที่เกื้อกูลสมดุลธรรมชาติ โดยศึกษาข้อมูลในอดีตเชิงสถิติและภาพรวม ผ่านการสัมผัสธรรมชาติจริง เรียนรู้โดยเน้นฝึกทักษะ การสังเกต สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติทั้งใกล้และไกล ฝึกเปลี่ยนการมองตรงจากความจริงที่ช่วยสะท้อนถึงรูปแบบของความคิด การตรึกตรอง การไต่สวนเพื่อให้พูนเพิ่มความรู้ หรือกรอบปฏิบัติการที่ถูกต้องตรงทาง ฝึกป้อนตัวรู้ การตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ และการหาคำตอบที่คมชัดในทุกแหล่งเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากธรรมชาติ ฝึกการเก็บข้อมูลโดยการวาดรูป บันทึกภาพ เชื่อมโยงข้อมูลที่ได้รับ เพื่อให้เกิดสมมุติฐาน ในการตรวจสอบและหาคำตอบต่อไป ประมวลความรู้ เพื่อการเข้าถึงกฎระเบียบ ระบบต่าง ๆ ที่มีในธรรมชาติ ที่ทรงอิทธิพลต่อมนุษย์ เกิดการอนุรักษ์และการเข้าถึงวิถีแห่งการธำรงรักษาที่ดีที่สุดคือ การรู้จริงโดยตนเองและมีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างในการเรียนรู้แบบองค์รวม

ASI 20302 หลักการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 3 (3-0-6)
Mathematical and Scientific Reasoning
แนวคิด และหลักการให้เหตุผลจากการได้สังเกต เข้าใจความจริงทางธรรมชาติ การวิเคราะห์สถานการณ์ที่ปรากฏ หรือปัญหาต่าง ๆ เพื่อการตัดสินใจ โดยใช้แนวคิดทฤษฎีย่อย และกลยุทธการเรียนรู้ เพื่อให้ได้ตัวรู้ในคำถามคำตอบที่เกิดจากการพัฒนาความรู้ ทั้งลักษณะ การคำนึง และการคำนวณ การรู้หลักเกณฑ์ของจำนวนจริง RF Counting ไปสู่ระบบหน่วยตัวเลข Digits ตัวเลขที่เป็นชุด เป็นแถวอันดับ Matrix และความรู้อื่น ๆ ที่สัมพันธ์กัน เป็นองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้ในชีวิตจริงเชิงคณิตศาสตร์ ควบคู่หลักการเชิงวิทยาศาสตร์ ที่เกิดจากความสนใจใคร่รู้โลก และสิ่งรอบตัว หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ เกิดวิธีค้นหาคำตอบนั้น ๆ ในกระบวนการวิธีวิทยาศาสตร์ และให้ผู้เรียนแตกฉานขึ้นด้วย กระบวนการทางปัญญา 10 ขั้นตอน เพื่อสืบค้นข้อมูล ความจริง ติดตาม บันทึกจนสามารถสรุปผลสุดท้ายได้ร่วมกัน เกิดเป็นความรู้ ทฤษฏีต่าง ๆ ศึกษาเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ทฤษฎีที่มนุษย์คิดค้นพบขึ้น ล้มล้างทฤษฎีเดิมเกิดทฤษฎี แนวคิดใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ และการนำความรู้เชิงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์สร้างสรรค์ วิทยาการ เทคโนโลยี เกิดการเปลี่ยนวิถี รวดเร็วจนเกิดผลกระทบที่มนุษย์และสังคมปัจจุบัน หรือเกิดการทำลายธรรมชาติแวดล้อม ในที่สุดทำลายตัวมนุษย์เอง ให้ผู้เรียนตระหนักถึงการใช้คณิตศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ไปให้ถูกทาง ไม่ใช้ไปในทางที่ก่อให้เกิดผลเสียหาย หรือเสียหายให้น้อยที่สุด

ASI 20303 คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 (2-2-5)
Introduction to Computer, Information and Technology
หลักการทำงานของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อจัดเตรียมเอกสารและการนำเสนองานต่อบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวิชาชีพ การสืบค้นข้อมูลสารสนเทศออนไลน์ และการจัดทำฐานข้อมูลในระดับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวิชาชีพ

4. กลุ่มวิชาภาษา หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ASI 10401 การพัฒนาทักษะภาษาไทยและวรรณคดี 1 3 (2-2-5)
Skill Development of Thai Language and Literature I
เรียนหลักภาษาและการใช้ภาษาไทย ความสำคัญของภาษาในการสื่อสาร ในการทำงาน คือใช้ในการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานได้แก่ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์หรือไวยากร และฉันทลักษณ์ ซึ่งเป็นแกนกลางที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจถึงความหมายของภาษา โดยนำไปใช้อย่างเหมาะสมถูกต้อง ทั้งการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนในขั้นต้น ตลอดจนศึกษานิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมร่วมสมัยเพื่อให้เห็นภาพสะท้อนด้านภาษา ประวัติศาสตร์ และสังคมอย่างเป็นองค์รวม ผ่านสื่อผสมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม

ASI 10402 การพัฒนาทักษะภาษาไทยและวรรณคดี 2 3 (2-2-5)
Skill Development of Thai Language and Literature II
การใช้ภาษาในการสื่อสารทุกรูปแบบกับการใช้สื่อที่หลากหลาย เน้นการเรียนรู้ฝึกทักษะการใช้ภาษาสำหรับระดับชั้นปฐมวัย ให้สามารถอ่านออกเขียนได้ ตามพัฒนาการของผู้เรียน ซึ่งเน้นกิจกรรมที่มุ่งเพิ่มพูนความสามารถในการใช้ภาษาแบบองค์รวมอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการ บูรณาการองค์ความรู้ของภาษาไทยทั้งกว้าง ลึก โดยผ่านการเรียนเชิงวิชาการและปฏิบัติการสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน

ASI 10403 การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ 1 3 (2-2-5)
Skill Development of English Language I
การฝึกฝนครูให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษอย่างลึกซึ้ง ด้วยตนเอง และมีความเข้าใจพัฒนาการทางภาษาอังกฤษในเด็กเล็ก 0-7 ขวบ ซึ่งประกอบด้วยทักษะพื้นฐานต่าง ๆ ดังนี้ 1 การสร้างประมวลคำศัพท์ ทั้งคำฟัง Passive Vocabulary และคำใช้ Active Vocabulary ผ่านกิจกรรม เกม บัตรคำ เพลง ฯลฯ 2 การฟัง อาศัยได้ยิน ได้เห็น จดจำ เดาความ และ อื่นๆ 3 การเขียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยให้เด็กได้ชินตากับการเขียนเส้น ทิศทางและคุ้นเคยกับการเพ่งมองตัวอักษร รวมทั้งการเขียนอิสระ เขียนตามความคิด ความเข้าใจของตน อาศัยการวาดรูปอิสระ ครูช่วยชักจูงดูความหมายและบันทึก 4 การจดจำตัวอักษร และ 5 การพูด เน้นโอกาสการได้ยิน การอ่าน การพูด การร้องเพลงที่ถูกต้องของครู หลากหลายรูปแบบ

ASI 10404 การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ 2 3 (2-2-5)
Skill Development of English Language II
การพัฒนาตนเองของครูให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษมากพอที่จะสอนเด็กได้ดีเท่าเจ้าของภาษหรือดีกว่า โดยครูจะต้องรู้จักจุดอ่อน จุดแข็งของตน ในทักษะพิเศษต่าง ๆ ตลอดจนรู้วิธีแก้ไขและฝึกฝนตนเองให้มีศักยภาพสูง ประกอบด้วยการเน้นเสียง เน้นพยางค์ เน้นคำในประโยคเพื่อสื่อความหมายให้ถูกต้อง รู้ว่าอักษรใดเป็น Voiced หรือ Unvoiced การท่องกลอนประเภท Tongue Twist การออกเสียงที่ไม่มีในภาษาของเรา เช่น “th” รู้จักร้องเพลงชาติต่าง ๆ ที่รู้จักกันทั่วโลก World Repertoire ให้ชัดเจนถูกต้อง จดจำคำกลอนที่เหมาะกับเด็กได้คล่องแคล่วแม่นยำ การออกเสียงสระถูกต้อง ชัดเจนเท่าเจ้าของภาษา รู้จักทบทวนคำ วลี ประโยค ที่มีในหนังสือภาษาอังกฤษชุดต่าง ๆ รู้จักสะสมและท่องจำประโยคสนทนาโต้ตอบ รู้จักหนังสือนิทาน นิยาย วรรณคดีที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก ทั้งของไทยและต่างประเทศ ครูรู้จักวิธีการสอนภาษาที่อาศัยพื้นฐานของดนตรี ศิลปหัตถกรรม การเคลื่อนไหวเชิงพลศึกษา การละคร นาฏศิลป์ ช่วยการเรียนรู้และปรับพฤติกรรมของเด็กด้วย

ข. หมวดวิชาเฉพาะด้าน
1. กลุ่มวิชาชีพครู
1.1 วิชาเฉพาะสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ECE 10501 การรู้จักธรรมชาติและจิตวิทยาของเด็กปฐมวัย 3 (1-4-4)
Nature, Nurture and Psychology in Early Childhood
ศึกษาทฤษฎีพื้นฐานจิตวิทยาทั่วไป จิตวิทยาการศึกษา จิตวิทยาแนะแนวและการให้คำปรึกษา จิตวิทยาเด็ก การศึกษาธรรมชาติของเด็กปฐมวัย พฤติกรรมการเรียนรู้ พัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงช่วงปฐมวัย อิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านอย่างคำนึงถึงวิกฤติทางสังคมตามความเหมาะสมกับอายุและความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยคำนึงถึงความสนใจและศักยภาพของเด็กปฐมวัยเป็นรายบุคคล ตลอดจนการสังเกตและเฝ้าระวังพัฒนาการของเด็ก

ECE 10502 สถิติเพื่อการวิจัย 3 (1-4-4)
Statistics for Research
แนวความคิดเกี่ยวกับวิชาสถิติ ตัววัดตำแหน่งที่ ตัววัดค่ากลาง ตัววัดการกระจาย ตัวแปรสุ่ม และการแจกแจงความน่าจะเป็นของตัวแปรสุ่ม การแจกแจงทวินาม การแจกแจงปัวส์ซอง การแจกแจงปกติ การแจกแจงตัวอย่าง สถิติอนุมานสำหรับประชากรเดียวและสองประชากร การวิเคราะห์ข้อมูลความถี่ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว การวิเคราะห์การถอยเชิงเส้นแบบง่าย

ECE 10503 ปรัชญาและนวัตกรรมการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย 3 (2-2-5)
Philosophy and Innovation in Education for Early Childhood
ศึกษาและวิเคราะห์ปรัชญาการศึกษาตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะพุทธปรัชญา แนวคิด ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม แหล่งความรู้ ภูมิปัญญา สภาพสังคม วิถีชีวิตของท้องถิ่นที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบัน วิสัยทัศน์และแผนพัฒนาการศึกษาไทย นวัตกรรมและกระบวนการการจัดการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานและมาตรฐานช่วงชั้นของหลักสูตร เพื่อพัฒนาจิตใจและปัญญาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การเชื่อมโยงปรัชญาและนวัตกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร การประเมินการใช้หลักสูตรที่เปรียบเทียบสภาวะทั้งก่อน-หลังการใช้หลักสูตร

ECE 20504 วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัย 3 (2-2-5)
Thai Culture and Wisdom in Early Childhood Education
วัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกี่ยวกับการเลือกคู่ การตั้งครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงดูเด็กในวัยต่าง ๆ ของไทย ครอบครัวไทยและวิถีชีวิตส่งผลต่อการก่อร่างสร้างคุณลักษณะและคุณธรรมของเด็ก วิถีชีวิตไทยเป็นวิถีชีวิตที่เกิดการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ของเล่น การละเล่น ดนตรี ศิลปะไทยที่แสดงถึงการเลี้ยงดูเด็กให้เป็นคนดีมีคุณธรรม ศึกษาวิเคราะห์ เปรียบเทียบ วิสัยทัศน์และแผนพัฒนาการศึกษาไทย สภาพของการศึกษาปฐมวัยในอดีตและปัจจุบัน ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตรที่คำนึงถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย การพัฒนาและการประเมินหลักสูตรสถานศึกษาที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การเรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานและมาตรฐานช่วงชั้นของหลักสูตร

ECE 20505 การประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย 3 (1-4-4)
Assessment for Early Childhood
การประเมินพัฒนาการด้วยวิธีการที่หลากหลายโดยเฉพาะเชิงคุณภาพ เช่น การสังเกตบันทึกพฤติกรรม คำพูด การประยุกต์แบบทดสอบทางจิตวิทยาในการประเมินพัฒนาการเด็ก การปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจวัดพัฒนาการเด็ก เพื่อนำผลการทดสอบและประเมิน มาวิเคราะห์รู้จังหวะในการยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กอย่างเหมาะสม การประเมินผลงานเด็กโดยการสะท้อนความคิดเห็นและการวิเคราะห์วิจารณ์ของเด็กเอง

ECE 20506 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการออกแบบทางกายภาพเพื่อการเรียนรู้ 2 (1-2-3)
Physical Fundamental Design for Learning Environment
การศึกษาและปฏิบัติเพื่อฝึกทักษะพื้นฐานในการออกแบบทางกายภาพตั้งแต่การจัดองค์ประกอบ 2 มิติ 3 มิติ การถ่ายทอดความต้องการทางสุนทรียภาพและการสนองประโยชน์ใช้สอยโดยแปลความหมายเป็นรูปธรรมผ่านระบบการวิเคราะห์ สังเคราะห์และนำเสนอทางเลือกโดยคำนึงถึงข้อจำกัดและความได้เปรียบที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมทางกายภาพทั้งภายในและภายนอกที่มีสุขภาวะและสอดคล้องเหมาะสมกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ECE 30507 การบริหารจัดการสื่อสารสนเทศสำหรับการเรียนการสอน 3 (1-4-4)
Administration and Management in Media and Information for Teaching
ศึกษาแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดระบบสื่อสารสนเทศเทียบเคียงกับทฤษฎีและหลักการบริหารจัดการ ศึกษาบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศและการประยุกต์ใช้สาระจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างเหมาะสมกับศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ประโยชน์ของสื่อสารสนเทศกับการประกันคุณภาพการศึกษา การทำงานเป็นทีม การจัดทำโครงการทางวิชาการและการเชื่อมโครงข่ายการฝึกอาชีพ การมีภาวะผู้นำในการคิดริ่เริ่มการรณรงค์ใช้สื่อสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์ สำหรับการสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย ให้เข้าใจ เห็นคุณค่าและใช้กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศในการสืบข้อมูลการเรียนรู้ การค้นคว้าจากแหล่งการเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้ การสื่อสาร การแก้ปัญหา การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีคุณธรรม

ECE 30508 การพัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็กปฐมวัย 3 (2-2-5)
Curriculum Development for Early Childhood
ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ปรัชญาของการพัฒนาหลักสูตร ปัจจัยการพัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็กปฐมวัย ด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง วิสัยทัศน์และแผนพัฒนาการศึกษาไทย ความหมายและขอบเขตของหลักสูตร มาตรฐานและมาตรฐานช่วงชั้นตามวัยของเด็กปฐมวัย วิเคราะห์หลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร การประเมินหลักสูตรก่อนและหลังการใช้หลักสูตร ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็กปฐมวัยโดยยึดตามหลักพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นสำคัญ การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรที่หลากหลาย การใช้แหล่งเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้ในการพัฒนาหลักสูตร การค้นหาและสรรหาแหล่งเรียนรู้เพื่อความเป็นองค์รวมในการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย

ECE 30509 การศึกษาพิเศษ 3 (1-4-4)
Special Education
ความหมายและความสำคัญของการศึกษาพิเศษ ประเภทของเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ การจัดการศึกษาพิเศษ การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม และการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม การจัดการเรียนการสอนโดยใช้แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล IEP : Individualized Education Program แผนการสอนเฉพาะบุคคล IIP : Individualized Implementation Plan เทคนิคการสอน การจัดกิจกรรม การประเมินพัฒนาการ และการทำงานร่วมกับผู้ปกครอง

ECE 30510 การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 3 (1-4-4)
Learning Management for Early Childhood
วิธีการปูพื้นฐานและทักษะเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยถึงขีดสุดของศักยภาพ การดูแลสุขภาพและการรักษาสุขอนามัย การปฐมพยาบาลการป้องกันอุบัติเหตุและการเตรียมพร้อมเผชิญและหนีภัยพิบัติ ด้วยการให้เด็กได้เรียนรู้สาระต่าง ๆ ได้แก่ เรื่องตัวเราและสิ่งแวดล้อม ภาษาและวรรณคดี ภาษาและดนตรี การสื่อสารแบบอื่น ทักษะเพื่อชีวิต วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ การเคลื่อนไหว การละคร พลศึกษา นาฏศิลปะ ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น การใช้ประสาทสัมผัสทั้งหก โดยเน้นผิวสัมผัส และการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ใช้วิธีการบูรณการทั้งสาระ คือเป็นเนื้อหา เช่น และกลยุทธ์การสอน การบำบัดและการสื่อสารที่ใช้ศิลปะ ดนตรี และการเคลื่อนไหว

1.2. ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
1.2.1 รายวิชาประสบการณ์วิชาชีพครู หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ECE 20701 ประสบการณ์วิชาชีพ 1 2 (1-2-3)
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้คณิตศาสตร์เป็นแกน
Practicum I Arranging Learning Experience by Using Mathematics as a Core
การได้เป็นผู้สังเกตและจดบันทึกการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ในการจัดการและแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันร่วมกับครูผู้สอนที่เป็นต้นแบบ การวิเคราะห์เชื่อมโยงองค์ความรู้ สู่การพัฒนาแผนการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย โดยเน้นการบูรณาการกับวิถีกิจวัตรประจำวัน

ECE 20702 ประสบการณ์วิชาชีพ 2 2 (1-2-3)
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นแกน
Practicum II Arranging Learning Experience by Using Sciences as a Core
การได้เป็นผู้สังเกตและจดบันทึกการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางปัญญาในการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเอง ธรรมชาติและสรรพสิ่งใกล้ตัว การใช้ภาษาเพื่อเข้าถึงความรู้และอธิบายความรู้ ความเข้าใจร่วมกับครูผู้สอนที่เป็นต้นแบบ การวิเคราะห์เชื่อมโยงองค์ความรู้ สู่การพัฒนาแผนการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย โดยเน้นการบูรณาการกับวิถีกิจวัตรประจำวัน

ECE 30703 ประสบการณ์วิชาชีพ 3 2 (1-2-3)
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้ภาษาและวรรณคดีเป็นแกน
Practicum III Arranging Learning Experience by Using Language and Literature as a Core
วิชานี้ได้ออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ขั้นพื้นฐานในสายวิชาชีพครูด้านภาษาเป็นเครื่องหมายของความคิด หรือเครื่องมือสื่อความคิด โดยเรียนรู้ถึงความแตกต่างในการใช้ภาษาของแต่ละแนวคิด ซึ่งเป็นลักษณะคำเฉพาะที่แตกต่างกัน การศึกษาภาษาที่ใช้ในวิชาการของศาสตร์ต่างๆ ทำให้พัฒนาทักษะพิเศษด้านภาษา เพราะรู้แต่ภาษาในศาสตร์ทางโลก ไม่รู้ภาษาธรรม จึงฟังธรรมแท้ๆ ไม่เข้าใจ ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัย จึงต้องฝึกพัฒนาทักษะพิเศษ เพื่อการสื่อสารใช้ภาษาในสื่อการสอนที่หลากหลายเหมาะสมกับผู้รับสาระหรือผู้เรียนระดับปฐมวัย

ECE 30704 ประสบการณ์วิชาชีพ 4 2 (1-2-3)
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้ดนตรีและ การเคลื่อนไหวเป็นแกน
Practicum IV Arranging Learning Experience by Using Music and Movement as a Core
การได้เป็นผู้สังเกตและจดบันทึกการจัดกิจกรรมด้านดนตรีและการเคลื่อนไหว เพื่อพัฒนาทักษะพิเศษร่วมกับครูผู้สอนที่เป็นต้นแบบ การวิเคราะห์เชื่อมโยงองค์ความรู้สู่การพัฒนาแผนการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย โดยเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดนตรีและการเคลื่อนไหวบูรณาการกับวิถีกิจวัตรประจำวัน

ECE 40705 ประสบการณ์วิชาชีพ 5 2 (1-2-3)
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้สังคมและคุณธรรมเป็นแกน
Practicum V Arranging Learning Experience by Using Social and Morality as a Core
ความชัดเจนในการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่เป็นขั้นตอน โดยให้ความสำคัญกับคุณธรรม จริยธรรม เป็นแกนหลักในการเสริมแนวคิด และแนวปฏิบัติในวิชาชีพครู ให้ปรากฏผลของความสามารถในความเป็นครูที่มีจรรยาบรรณ มีวิทยฐานะที่เกิดจากวิถีชีวิตที่มีคุณภาพคือ เป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม แสดงออกในด้านทักษะการงาน การใช้ชีวิตในรูปแบบของหน้าที่ และทักษะสังคม ซึ่งเป็นนิติบัญญัติขั้นพื้นฐาน

ECE 40706 ประสบการณ์วิชาชีพ 6 2 (1-2-3)
การวางแผนและจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักพิเศษของเด็กปฐมวัยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
Practicum VI Planning and Teaching Program to Promote Mathematics and Scientific Skill for Early Childhood
การได้เป็นผู้สังเกตและจดบันทึกการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะพิเศษด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ร่วมกับครูผู้สอนที่เป็นต้นแบบ การวิเคราะห์เชื่อมโยงองค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ 10 ประการ โปรแกรมวิทยาศาสตร์แบบมาทาล สู่การพัฒนาแผนการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย โดยเน้นการ บูรณาการกับวิถีกิจวัตรประจำวัน

1.2.2 รายวิชาปฏิบัติการวิชาชีพครู หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ECE 50801 ปฏิบัติการวิชาชีพในสถานศึกษา 1 6 (0-12)
Internship I
การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาและปฏิบัติงานครูด้านต่างๆ โดยเน้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ครู ภายใต้การนิเทศร่วมระหว่างสถาบันอาศรมศิลป์กับสถานศึกษา ได้แก่ การศึกษาและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ภาระงานของครู การวางแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดชั้นเรียน การใช้สื่อนวัตกรรม การประเมินผล นำปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนมาวางแผนและดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นระบบ และรวบรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เป็นแฟ้มสะสมผลงาน

ECE 50802 ปฏิบัติการวิชาชีพในสถานศึกษา 2 6 (0-12)
Internship II
การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาและปฏิบัติงานครูด้านต่าง ๆ โดยเน้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ครู ภายใต้การนิเทศร่วมระหว่างสถาบันอาศรมศิลป์กับสถานศึกษา ได้แก่ การปฏิบัติการสอนในชั้นเรียน การวิจัยในชั้นเรียน การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน งานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน งานบริการของโรงเรียน ศึกษาและบริการชุมชน การประกันคุณภาพการศึกษา งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายรวบรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เป็นแฟ้มสะสมผลงาน

2. กลุ่มวิชาเอก
2.1 วิชาเอก หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ECE 10602 การใช้กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 1 3 (1-4-4)
Using Music Activities for Early Childhood Development I
การนำกิจกรรมดนตรี การเคลื่อนไหว และการใช้บทพูด บทกลอน บทเพลง หรือบทร้องเล่น รวมถึงเกมการละเล่นต่าง ๆ มาใช้ในการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพเด็กอย่างรอบด้านทั้ง ร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคมและสติปัญญา ไปพร้อม ๆ กับการให้พื้นฐานทางด้านดนตรี อย่างเข้าใจ สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยและตอบสนองความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน

ECE 10603 การใช้กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 2 3 (1-4-4)
Using Music Activities for Early Childhood Development II
การคิดวิเคราะห์คุณค่าในกิจกรรมและการสร้างสรรค์แผนการจัดกิจกรรมดนตรี การเคลื่อนไหว บทพูดบทกลอน บทเพลง หรือบทร้องเล่น รวมถึงเกมการละเล่นต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพเด็กอย่างรอบด้านทั้ง ร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา ไปพร้อม ๆ กับการให้พื้นฐานทางด้านดนตรีอย่างเข้าใจ สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยและตอบสนองความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน การสังเกตพฤติกรรมและการตอบสนองของผู้เรียน การประเมินพัฒนาการผู้เรียน การประเมินตนเองของผู้สอน การประเมินแผนการสอน

ECE 20604 การวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอน 1 3 (1-4-4)
Action Research in Teaching and Learning Management I
วิธีการสังเกตและศึกษาเด็กแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะเข้าใจพฤติกรรมและลักษณะพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย ฝึกระบุปัญหาและเชื่อมโยงทฤษฎีสู่ประสบการณ์ตรงในการดูแลเด็ก บันทึกและอภิปรายผลกับร่วมกับกลุ่ม

ECE 30605 การวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอน 2 3 (1-4-4)
Action Research in Teaching and Learning Management II
ความหมายของนิยามศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและสถิติ ลักษณะทั่วไป ของการวิจัย การสุ่มตัวอย่าง วิธีการเก็บข้อมูล ปัญหาการวิจัยและการประเภทการวิจัย การตั้งสมมติฐาน การทดสอบสมมติฐาน การวิเคราะห์ความแตกต่างและความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ

ECE 40606 การวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอน 3 3 (1-4-4)
Action Research in Teaching and Learning Management III
หลักและระเบียบวิธีวิจัยทางการเรียนการสอน การกำหนดปัญหา การวางรูปการวิจัย การตั้งวัตถุประสงค์และสมมติฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูล การสร้างแบบสอบถาม การวิเคราะห์และตีความข้อมูล การใช้สถิตสำหรับการวิจัย การเขียนรายงานและการเสนอผลการวิจัย

ECE 20608 พื้นฐานการเคลื่อนไหว 1 : พลศึกษา 3 (1-4-4)
Basic Movement I : Physical Education
การฝึกฝนเพื่อรู้จักขอบเขตของการเคลื่อนไหวของร่างกายแต่ละส่วน การเคลื่อนไหวตามเนื้อเรื่อง ทำนอง ตามต้นแบบพื้นฐาน การทำจังหวะด้วยร่างกาย การควบคุมลำตัวและส่วนต่างๆ ของร่างกายให้อยู่นิ่ง ทรงตัวได้ในอิริยาบถตามคำสั่งได้ วิธีการฝึกฝนเพื่อใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก การรู้จักใช้พื้นที่รอบตัว และบริเวณที่กำหนดให้โดยใช้ทิศทางและระดับ เพื่อให้รู้จักใช้ยุทธวิธีในการฝึกเด็กทำตามคำสั่งและคิดได้เองอย่างรวดเร็ว คล่องแคล่ว โดยเน้นความสามารถและทักษะในการตั้งคำถาม การออกคำสั่งทั้งปลายปิดและเปิด

ECE 20609 พื้นฐานการเคลื่อนไหว 2 : การละคร 3 (1-4-4)
Basic Movement Il : Drama
การฝึกฝนเรียนรู้ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ได้แก่ การยืด คุดคู้ และบิดส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รู้จักการเคลื่อนไหวและขยับเขยื้อนขณะอยู่กับที่โดยมีวัตถุอยู่ในมือ เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยการแยกส่วนต่าง ๆ ทีละส่วน ให้เคลื่อนไหวเหมือนกันแต่พร้อมกัน การเคลื่อนไหวไปพร้อมกับจังหวะ เร็วกว่าจังหวะ ช้ากว่าจังหวะที่กำหนดให้ เรียนรู้ในการออกแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะด้นสดเพื่อเป็นพื้นฐานการจับระบำรำเต้นในลักษณะจินตลีลา เรียนรู้การเคลื่อนไหวพื้นฐานต่าง ๆ เช่น รำไทย บัลเลย์ รำมวยไทย เพื่อฝึกการใช้ประสาทสัมพันธ์และมีกิจนิสัยรักสิ่งเหล่านั้นในแง่การบริหารกาย การรู้จักใช้เสียงต่างๆ ในลำคอประกอบการเคลื่อนไหวทั้งในลักษณะเหมือนจริงและ/หรือมีความหมายสอดคล้องกับคำ วลี/ประโยคที่มีอยู่ในประมวลคำศัพท์ของเด็ก

ECE 30610 พื้นฐานการเคลื่อนไหว 3 : นาฏศิลป์ 3 (1-4-4)
Basic Movement III : Dancing Art
เรียนรู้คุณค่าของนาฏศิลป์ในการพัฒนาความคล่องแคล่วของร่างกายและสุนทรียภาพผ่านการฝึกฝนท่วงท่าของการเคลื่อนไหวแบบต่างๆ การเรียนรู้จังหวะ และการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ให้สอดคล้องลงจังหวะ การสร้างท่าทางการเคลื่อนไหวที่สื่ออารมณ์ความรู้สึก หรือความคิด พร้อมกับดนตรีพื้นบ้านและเครื่องประกอบจังหวะที่เหมาะกับปฐมวัย

ECE 20611 การใช้นิทานเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 1 3 (1-4-4)
Using Fables and Tales for Early Childhood Development I
เรียนรู้จักความหลากหลายของนิทานและเรื่องเล่าประเภทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ การวิเคราะห์ในคุณค่าของนิทานและเรื่องเล่าที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย และเรียนรู้วิธีการเลือกนิทานที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการและการเล่านิทานด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น เล่าปากเปล่า เล่าประกอบหุ่นแบบต่าง ๆ เป็นต้น

ECE 20612 การใช้นิทานเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 2 3 (1-4-4)
Using Fables and Tales for Early Childhood Development II
การใช้นิทานเพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษา และ การคิด รวมทั้งการสร้างความเข้าใจและเรียนรู้ในวิธีการใช้หนังสือนิทานในการสร้างกิจกรรมแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน การทำแผนการสอนการสังเกตพฤติกรรมและการตอบสนองของผู้เรียน การประเมินพัฒนาการผู้เรียน การประเมินตนเองของผู้สอน และการประเมินแผนการสอน

ECE 20613 การฝึกทักษะทางสติปัญญา 3 (1-4-4)
Practicing Mindfulness and Wisdom Skill
ศึกษาวิธีการพัฒนาสติปัญญาของเด็กปฐมวัยทั้งวิธีการฝึกแยกระหว่างสติและปัญญาและการฝึกพร้อมกัน ตั้งแต่ฝึกให้เด็กมีสติติดตามทุกอิริยาบถการเคลื่อนไหว เกมการศึกษา เพื่อรู้เท่าทันความคิด และความรู้สึก โดยใช้วิธีการเคลื่อนไหว การสร้างจินตนาการ รู้จักหยุดนิ่งอยู่กับตนเองเมื่อได้ยินสัญญาณ รวมทั้งการฝึกให้เด็กมีปัญญาด้วยวิธีการสร้างเสริมคุณธรรมต่าง ๆ ในเด็ก ให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาต่าง ๆ การคิดคล่องด้วยวิธีการให้เด็กรู้จักคิดแก้ปัญหา คิดคล่องด้วยวิธีการด้นสด การจินตนาการ ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กมีชีวิตอย่างเท่าทันตนเองและผู้อื่น รวมทั้งการพัฒนาและบริหารตนเองและผู้อื่น

ECE 30614 พุทธศาสนากับการศึกษาปฐมวัย 2 (1-4-4)
Buddhism for Early Childhood Education
ศึกษาทำความเข้าใจ คุณธรรม 35 ประการ ซึ่งควรปลูกฝังบ่มเพาะได้ตั้งแต่ปฐมวัย ได้แก่ ความอดทนอดกลั้น ความซื้อสัตย์สุจริต ความกตัญญู ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ความเสียสละ ความสามัคคี ความรู้จักหน้าที่และมีความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา ความจงรักภักดี ความสันโดษ ความมุ่งมั่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอ่อนโยน การรู้เขารู้เรา วินัย สติสัมปชัญญะ การมีสัมมาคารวะ ความกล้าหาญ ความขยันหมั่นเพียร การไว้วางใจคน ความรู้สึกรู้สม ความรอบคอบถี่ถ้วน การให้อภัย ความเชื่อมั่นในตน การเป็นผู้นำผู้ตาม การนับถือความเป็นมนุษย์ ความมัธยัสถ์ การรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ความจริงใจ รักความเป็นธรรม ความไม่ประมาทและการรู้คิด

ECE 30615 การใช้ศิลปะเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 1 3 (1-4-4)
Using Arts for Early Childhood Development I
เรียนรู้การวิเคราะห์คุณค่าในกิจกรรมศิลปะด้านต่าง ๆ งานปั้น ฉีก ตัดปะ วาดเส้น ระบายสี ประดิษฐ์ งานฝีมือ ฯลฯ และสร้างความเข้าใจในการนำมาใช้พัฒนาเด็กปฐมวัย เรียนรู้กระบวนการจัดกิจกรรมและการใช้สื่อที่หลากหลายที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย เรียนรู้เทคนิคพื้นฐานต่าง ๆ ของการทำงานศิลปะ เรียนรู้และตระหนักในบทบาทหน้าที่ของครูผู้จัดกิจกรรมที่ส่งผลต่อตัวผู้เรียน

ECE 30616 การใช้ศิลปะเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 2 3 (1-4-4)
Using Arts for Early Childhood Development II
การสร้างสรรค์กิจกรรมศิลปะด้านต่าง ๆ งานปั้น ฉีก ตัดปะ วาดเส้น ระบายสี ประดิษฐ์ งานฝีมือ ฯลฯ การใช้สื่อที่หลากหลายที่มีความเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย การสร้างกิจกรรมศิลปะแบบบูรณาการ การสังเกตพฤติกรรมและการตอบสนองของผู้เรียน การประเมินพัฒนาการผู้เรียน การประเมินตนเองของผู้สอน และการประเมินแผนการสอน

ECE 40617 การฝึกความเป็นกัลยาณมิตรกับครูต้นแบบ 3 (1-4-4)
Practicing to be Kalayanamitra with Mentor
การฝึกฝนตนเอง เพื่อบ่มเพาะกัลยาณมิตรธรรม 7 กล่าว คือ 1 ปิโย-เป็นผู้น่ารักน่าพอใจ 2 ครุ-เป็นผู้น่าเคารพ, 3 ภาวนีโย-เป็นผู้น่ายกย่อง 4 วตฺตา จ -เป็นผู้รู้จักพูด 5 วจนกฺขโม-เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ 6 คมฺกีรญฺจ กถํ กตฺตา-เป็นผู้กล่าวแถลงถ้อยคำที่ลึกซึ้งได้ และ 7 โน จฏฺฐาเน นิโยชเย-ไม่ชักนำไปในเรื่องที่เหลวไหลไม่สมควร แสวงหาครู-อาจารย์ เพื่อศึกษาจริยาจากท่านเป็นต้นแบบ แล้วน้อมนำมาปฏิบัติตามจนสามารถพัฒนาตนเพื่อการตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพครู บทบาทหน้าที่ ภาระงานของครู พัฒนาการของวิชาชีพครู ทัศนคติต่อวิชาชีพ วิสัยทัศน์และความศรัทธาในวิชาชีพ

ECE 40618 การเข้าถึงสุนทรียภาพความสุขและการพัฒนาบุคลิกภาพของครูปฐมวัย 3 (1-4-4)
Reaching of Aesthetics Happiness and Personality Development of Early Childhood Teacher
รูปแบบต่าง ๆ ของการฝึกฝนครูปฐมวัยเพื่อเป็นแบบอย่างของเด็กและเรียนรู้วิธีการฝึกเด็กตั้งแต่ระดับจิตใต้สำนึก การพัฒนาครูให้เข้าถึงสุนทรียภาพ รสนิยมการแต่งกาย การฟังดนตรี การรู้จักความหมายของภาษา การใช้ภาษาที่ถูกกาลเทศะ การฝึกฝนและเรียนรู้ ความงดงามของศิลปะแขนงต่างๆ เรียนรู้และวิเคราะห์ความงดงามของดนตรี ศิลปหัตถกรรมที่หลากหลายของชนชาติต่าง ๆ การพัฒนาบุคลิกภาพและสติ การควบคุมการสัมผัสแตะต้อง การทรงตัวในทุกอิริยาบถ การเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวล การจัดระยะร่างกายตนเอง และการจัดระยะระหว่างตนเองและผู้อื่น การเรียนรู้วิธีใช้ภาษาท่าที่บ่งบอกถึงความอาทร การปลอบประโลม โดยการฝึกการบริหารจิต การรู้เท่าทันและจัดการกับอารมณ์ การปรับบุคลิกภาพด้วยการเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องในทุกอิริยาบถ ความสัมพันธ์ของบุคลิกภาพและบทบาท หน้าที่ ภาระงานของครู พัฒนาการของวิชาชีพครู ทัศนคติต่อวิชาชีพ การหล่อหลอมวิสัยทัศน์และศรัทธาในวิชาชีพครู

ECE 40619 ทักษะชีวิต 3 (1-4-4)
Life Skills
ศึกษาทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อบทบาท หน้าที่ และภาระงานของการเป็นครู ลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของทักษะชีวิตต่อพัฒนาการของวิชาชีพ การสร้างทัศนคติ วิสัยทัศน์ และความศรัทธาในวิชาชีพครู การฝึกฝนและวิเคราะห์ทักษะชีวิตในสภาพการณ์ห้องเรียนเด็กปฐมวัย

ECE 40620 การประกอบอาหารเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต 3 (1-4-4)
Cooking for Life Skill Development
องค์ประกอบที่หลากหลายและสมดุลของธรรมชาติ เป็นต้นกำเนิดของอาหาร อาหารเป็นเครื่องแสดงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น และฤดูกาล การฝึกคิดแบบเชื่อมโยง เพื่อเรียนรู้คุณค่าของอาหาร การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการรับประทานอาหาร เพื่อให้เกิดความสมดุล วิเคราะห์สภาพปัญหาเกี่ยวกับอาหารของเด็กปฐมวัยในปัจจุบัน การประกอบอาหารที่เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย

ECE 40621 การเล่นและการละเล่นไทย 3 (1-4-4)
Thai Play and Game
ศึกษาความหมาย ความสำคัญ แนวคิด หลักการ และคุณค่าเกี่ยวกับการเล่นและการละเล่นไทย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย รูปแบบและกิจกรรมของการเล่นและการละเล่น ในมิติของการพัฒนาเฉพาะด้าน และการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม การสังเกตและประเมินพัฒนาการผ่านการเล่น ความปลอดภัยในการเล่น และการส่งเสริมวินัย การประเมินและเลือกสื่อกิจกรรมการเล่นและการละเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย บทบาทท่าทีของครูในการส่งเสริมการเล่นและการละเล่น

ECE 40622 ศิลปะเพื่อบำบัดและปรับสมดุล 1 3 (1-4-4)
Arts for Healing and Balancing I
ศึกษาแนวคิดและทฤษฎีด้านศิลปะบำบัด พัฒนาการทางศิลปะของเด็กปฐมวัย ความสำคัญของศิลปะที่มีต่อมนุษย์ อิทธิพลของเส้น สี รูปทรง และองค์ประกอบของภาพ หลักการและวิธีการสร้างกระบวนการเรียนรู้จากภายใน การปฏิบัติกิจกรรมศิลปะในแนวทางต่าง ๆ

ECE 40623 ศิลปะเพื่อบำบัดและปรับสมดุล 2 3 (1-4-4)
Arts for Healing and Balancing II
การวิเคราะห์เบื้องต้นเพื่อการเยียวยาและปรับสมดุล ศิลปะเด็กและศิลปะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การพัฒนากายและใจผ่านการปฏิบัติกิจกรรมศิลปะในแนวทางต่าง ๆ

ECE 40624 การสื่อสารและการพัฒนาสัมพันธภาพภายในองค์กร 3 (1-4-4)
Communication and Development in Organization Bond
ศึกษาความหมาย ความสำคัญ แนวคิด หลักการเกี่ยวกับองค์กร และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ศึกษาและทำความเข้าใจถึงความแตกต่างและธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ เครื่องมือการสื่อสารในระยะรับเข้า และระยะส่งออก โดยมีระบบคิดใคร่ครวญเป็นตัวปรับสมดุล การสื่อสารข้อมูลและความจริงโดยปราศจากอคติ พร้อมพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส บทบาทการสื่อสารต่อทฤษฎีและการบริหารการจัดการ การริเริ่มหลักการสื่อสารในการประกันคุณภาพการศึกษา การทำงานร่วมกับภาคีทางการเรียนรู้ การจัดทำโครงงานทางวิชาการ การจัดทำโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียน การเผยแพร่ผลการจัดการเรียนรู้สู่ชุมชน

ECE 40625 การสื่อสารเพื่อพัฒนาสัมพันธภาพกับผู้ปกครองและสาธารณชน 3 (1-4-4)
Communication for Relationship Development of Parent and Public
การสังเกต การฟัง การรับรู้ เพื่อความเข้าใจมนุษย์ และการประเมินบุคคลและสถานการณ์ การฝึกการพูดด้วยวจีสุจริต ศึกษาเกี่ยวกับการแนะแนวและปฐมนิเทศผู้ปกครอง การใช้กิจกรรม และกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับปฐมวัย และการนำเสนอข้อมูลความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับปฐมวัยในการพัฒนาสัมพันธภาพกับผู้ปกครอง

ECE 40626 การพัฒนาภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย 3 (1-4-4)
Language Development for Early Childhood
พัฒนาการทางภาษาของเด็ก 0-8 ปี ทั้งวจนภาษาและอวจนภาษา ฝึกสังเกตและวิเคราะห์การเรียนรู้ทางภาษาของเด็กผ่านการใช้ชีวิตประจำวันและกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเป็นผู้รับและผู้แสดงออก ศึกษากลวิธีการพัฒนาทักษะทางภาษา ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ผ่านกิจกรรมบูรณาการและการเลือกใช้สื่อรูปแบบต่างๆ เพื่อการสร้างประมวลคำศัพท์ของเด็ก

2.2 วิชาการสอนวิชาเอก หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ECE 10601 การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้บนพื้นฐานสมองของเด็กปฐมวัย 3 (1-4-4)
Development and Brain- Based Learning in Early Childhood
ศึกษาแนวคิดทางจิตวิทยาพัฒนาการและพัฒนาการของสมองตามวัย ความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยาการศึกษาของเด็กปฐมวัยและทฤษฎีใหม่ทางพัฒนาการของสมอง การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์เพื่อการส่งเสริมพัฒนาการของบุคคลตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงปฐมวัย หลักการในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้วยรูปแบบและกระบวนการที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของสมองและท่วงทำนองการเรียนรู้ของแต่ละคน การตระหนักถึงการให้คำแนะนำช่วยเหลือ ให้ความรู้กับครอบครัวของเด็กปฐมวัยด้วยทีท่าของกัลยาณมิตร

ECE 20607 การจัดการสิ่งแวดล้อมและสร้างบรรยากาศสำหรับการเรียนรู้ 3 (1-4-4)
Managing Environment and Creating Learning Atmosphere
ศึกษาทฤษฎีการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมทั้งภายใน-นอกห้องเรียนและหลักการบริหารจัดการ การมีภาวะผู้นำทางการศึกษาในการริเริ่มจัดการสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย พื้นที่ในร่ม กลางแจ้ง และการทำงานเป็นทีมกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งลักษณะทางกายภาพและบรรยากาศ ตั้งแต่การปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ การจัดพื้นที่ในห้องเรียน เป็นส่วนต่าง ๆ ที่เสริมสร้างการเรียนรู้ ฝึกทักษะเพื่อชีวิต และสร้างเสริมประมวลคำศัพท์โดยเฉพาะการรู้จักการนิ่งสงบ การจัดพื้นที่ในอาคารด้วยหลักการใช้ประโยชน์สูงสุด มีระบบระเบียบในการใช้ มีความละเอียดและสวยงาม บทบาทผู้สอนในการสร้างบรรยากาศที่เร้าการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมที่สมดุลที่รวมทั้งตระหนักถึงบทบาทของครูปฐมวัยในฐานะเป็นครู เป็นผู้อบรมเลี้ยงดู เป็นพี่เลี้ยง และนักบำบัดเบื้องต้น การบริหารจัดการรวบรวมข้อมูลเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา การจัดทำโครงงานทางวิชาการ การจัดโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนา การศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน

2.3 เลือกวิชาเอก หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ECE 30601 การละคร 2 (1-2-3)
Drama
ศึกษาคุณค่าของการละครในรูปแบบต่างๆ การฝึกทักษะการใช้ร่างกายและการเคลื่อนไหว เพื่อเรียนรู้ร่างกายและพิกัดของตนเอง การสื่ออารมณ์ ความรู้สึก ทางสีหน้า ท่าทาง และคำพูด คุณค่าของการละครในฐานะของการสื่อสาร การเยียวยาบำบัด และการสร้างสุนทรียะ การสร้างสรรค์ละครเพื่อสื่อสารคุณค่า

ECE 30602 นักเขียน 2 (1-2-3)
Writer
การอ่านจับประเด็นและอภิปรายสาระและคุณค่า จากบทความและวรรณกรรม ประเภท ร้อยแก้ว ร้อยกรองที่หลากหลาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ฝึกการเขียนสื่อความในรูปแบบต่างๆ เช่น ข่าว ความเรียง บทความ บทละคร สารคดี ฝึกการเขียนบทความ วิชาการ หรือเรื่องสั้น

ค. หมวดวิชาเลือกเสรี หน่วยกิต บรรยาย – ปฏิบัติ – ศึกษาด้วยตนเอง

ECE 30901การบริหารสุขภาพกายและจิต 2 (1-2-3)
Physical and mental health administration
ความเข้าใจเรื่องชีวิตและการพัฒนาชีวิต รูปแบบการพัฒนาและบริหารกายและจิตอย่างสมดุลของชาติต่างๆ เช่น แอโรบิคมวยไทย โยคะ ไท้ชี่ การปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ การบริหารกายและจิตผ่านการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ และการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง ทบทวน ประเมินและปรับปรุงตนเอง

ECE 30902 กีฬาและเกม 2 (1-2-3)
Sport and Game
การฝึกทักษะทางกีฬา และการเคลื่อนไหวเบื้องต้น การเล่นกีฬาและเกมกลางแจ้งที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและสากล การสังเกต วิเคราะห์คุณค่าที่เกิดจากการฝึกกีฬาและเกมชนิดต่างๆ การคิดสร้างเกมกีฬาที่มีจุดประสงค์เฉพาะ

ECE 40905 การเต้นรำ 2 (1-2-3)
Rhythmic Movement and Dance
เรียนรู้คุณค่าของการเต้นรำในการพัฒนากายใจสมดุลส่งเสริมการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วและสง่างามผ่านทางการปฏิบัติโดยเริ่มจากฝึกการฟังจังหวะพื้นฐาน การใช้สื่ออุปกรณ์ และการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับจังหวะของดนตรี การเต้นรำแบบพื้นเมืองของประเทศต่างๆ การเต้นรำท่ามาตรฐานสากล การออกแบบท่าเต้นรำประกอบจังหวะ

ECE 40906 ภาพยนตร์ 2 (1-2-3)
Movie and Animation
ศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของภาพยนตร์ในอดีต และปัจจุบันที่มีคุณค่า ฝึกการเขียนบทการใช้เครื่องมือถ่ายทำ การเลือกสภาพแวดล้อม เหตุการณ์ และเทคนิคการทำหนังสั้นด้วยเครื่องบันทึกภาพแบบเคลื่อนไหวและการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทดลองผลิต

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
คณาจารย์

ดร.กุณฑลี บริรักษ์สันติกุล

ผู้อำนวยการหลักสูตร

อาจารย์ปานใจ จารุวณิช

อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

อาจารย์สมจิตต์ สุวรรณวงศ์

อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

อาจารย์สืบศักดิ์ น้อยดัด

อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

อัตราค่าธรรมเนียมและค่าเล่าเรียน

อัตราค่าลงทะเบียนตลอดหลักสูตร

ก.ค่าธรรมเนียมในการสมัครและสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
ทุกหลักสูตร 700 บาท (ชำระเมื่อยื่นใบสมัคร)

ข.ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา*
(เฉพาะภาคศึกษาแรกที่เข้าศึกษา) 1,000 บาท

ค.ค่าบำรุงการศึกษา (อัตราต่อภาคการศึกษา)
ค่าบำรุงกิจกรรมเสริมหลักสูตร
1,000 บาท
ค่ากิจกรรมนักศึกษาและกิจกรรมกีฬา
1,000 บาท
ค่าบำรุงห้องพยาบาลและเวชภัณฑ์
1,000 บาท
ค่าบำรุงสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต
1,500 บาท
ค่าบำรุงห้องสมุด
1,500 บาท
ค่าอุปกรณ์ปฏิบัติการเชิงวิชาชีพ *
2,000 บาท

ง.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิต
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย หน่วยกิตละ   1,500 บาท

จ.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายเฉพาะหลักสูตร
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย  จำนวนเงิน 332,000 บาท
ให้นักศึกษาชำระภาคการศึกษาแรก จำนวน 34,100 บาท และ ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่สองภาคการศึกษาละ 33,100 บาท
มีรายละเอียดดังนี้

-ค่าบำรุงการศึกษาและค่าลงทะเบียนหน่วยกิต
ภาคการศึกษาละ 33,100 บาท ระยะเวลา 5 ปี จำนวน   331,000 บาท  
– ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
1,000 บาท ในภาคการศึกษาแรก

หมายเหตุ : อัตราค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายทุกหลักสูตร ยังไม่รวม ค่าธรรมเนียมในการสมัคร/สอบคัดเลือก ค่าใช้จ่ายช่วงสำเร็จการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการออกภาคสนาม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอน 

ฉ.ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด
• ค่าปรับลงทะเบียนเรียนล่าช้ากว่ากำหนด
โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน (วันละ) 200 บาท
หากมีความจำเป็นขอให้ทำหนังสือชี้แจงมายังสถาบันฯเพื่อพิจารณา มิฉะนั้นการลงทะเบียนนั้นเป็นโมฆะ

• ค่าธรรมเนียมรักษาสถานภาพนักศึกษา
ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรบัณฑิต (ภาคการศึกษาละ) 1,000 บาท

• ค่าหนังสือแสดงผลการศึกษา
150 บาท

• หนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักศึกษา
150 บาท

• ค่าขอเทียบโอนวิชาจากสถาบันอื่น
(ครั้งละ) 1,500 บาท

• ค่าธรรมเนียมนำเสนอโครงร่างและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์
5,000 บาท

• ค่าธรรมเนียมบัตรนักศึกษาที่ขอใหม่
(ใบละ) 200 บาท

• ค่าธรรมเนียมช่วงสำเร็จหลักสูตร
5,000 บาท

• ค่ากิจกรรมภาคสนามในประเทศและต่างประเทศ
พิจารณาตามความเหมาะสม

ช. ค่าปรับการส่งหนังสือห้องสมุดเกินกำหนด
•หนังสือทั่วไป
(เล่ม/วันละ) 10 บาท
•หนังสือจอง
(เล่ม/ชั่วโมง) 10 บาท
•หนังสือจอง
(วันละ) 80 บาท

ปฏิทินการศึกษา
FAQ คำถามที่พบบ่อย