Master’s degree in Holistic Education

Previous
Next

ต่อยอดสู่การเป็นครูหัวใจใหม่ การศึกษาแบบองค์รวม

ครูการศึกษาแบบองค์รวม หรือ Holistic Teacher  
เป็นผู้ที่ความศรัทธาในความเป็นครูของตน มี “ดุลยภาพแห่งชีวิต” ทั้งทางกายและใจ (Mental & Spiritual Health) พร้อมที่เผชิญความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน มีจิตใจที่มั่นคง มีความรักความเมตตาในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจด้วยใจปรกติ เป็นปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาการเรียนรู้ให้งอกงามเต็มตามศักยภาพของพวกเขาได้

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาแบบองค์รวม
ภาษาอังกฤษ Master of Education Program (Holistic Education)

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย ชื่อเต็ม ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (การศึกษาแบบองค์รวม)
ชื่อย่อ ศษ.ม. (การศึกษาแบบองค์รวม)

ภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม Master of Education in Holistic Education
ชื่อย่อ M.Ed. (Holistic Education)

วิชาเอก
• หลักสูตรและการเรียนการสอน
• การบริหารการศึกษา

จำนวนหน่วยกิตที่เรียน
หน่วยกิตตลอดหลักสูตร 45 หน่วยกิต

รูปแบบของหลักสูตร
หลักสูตรคำนึงถึงการให้โอกาสกับนักศึกษาในการพัฒนาตนเองเป็นครูนักวิชาการหรือเป็นครูชำนาญการสอนและผู้ชำนาญการบริหารการศึกษา ดังนั้นจึงได้จัดดำเนินการหลักสูตรระดับปริญญาโท 2 ปี เป็นแผน ก. แบบ ก. 2 เรียนรายวิชาและศึกษาวิทยานิพนธ์ และแผน ข. เรียนรายวิชาและศึกษาสารนิพนธ์ ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และมาตรฐานหลักสูตร ตามประกาศ
คุรุสภา เรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2557

ภาษาที่ใช้
ภาษาไทย
เอกสารตำราภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

การรับเข้าศึกษา
รับผู้เข้าศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศที่สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

ความร่วมมือกับสถาบันอื่น
เป็นหลักสูตรเฉพาะของสถาบันอาศรมศิลป์ที่จัดการเรียนการสอนโดยตรงและมีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

ผู้เข้าเป็นนักศึกษาต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับขั้นปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ไม่จำกัดสาขาวิชา และมีคุณสมบัติทั่วไปเป็นไปตามข้อกำหนดของสถาบันอาศรมศิลป์ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการบริหารหลักสูตร

• มีสุขภาพจิตดี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นอุปสรรคในการศึกษา
• ผ่านการสอบคัดเลือกวิชาภาษาไทยตามเกณฑ์ของสถาบันอาศรมศิลป์
• ผ่านการสอบสัมภาษณ์ตามเกณฑ์ของสถาบันอาศรมศิลป์

รายวิชาที่เรียน

วิชาพื้นฐาน
ASI 401 มงคลชีวิต (ไม่นับหน่วยกิต)
(Contemplative Practices)
การสร้างพื้นฐานการพัฒนาชีวิต ด้วยการฝึกฝนและบ่มเพาะญาณทัศนะ โดยอาศัยกัลยาณมิตรและชุมชนที่สมานฉันท์ ผ่านกระบวนการแห่งภาวนา 4 คือ ศีลภาวนา กายภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา รวมทั้งการสร้างสุขภาวะแบบองค์รวมผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของสถาบันอาศรมศิลป์โดยเชื่อมโยงกับจิตวิทยาพื้นฐาน จิตวิทยาการศึกษาและจิตวิทยาการแนะแนวและให้คำปรึกษา หลักธรรมาภิบาล ความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรมของวิชาชีพครู การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีจิตสำนึกสาธารณะและเสียสละให้สังคม ฝึกฝนการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และการยอมรับความคิดเห็นจากวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย

ASI 403 ภาษาและเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ (ไม่นับหน่วยกิต)
(Language and Communication Technology for Learning)
การใช้ภาษาไทยภาษาต่างประเทศ และวัฒนธรรมไทย ในการเป็นครูและพัฒนาวิชาชีพครู ทักษะในการสื่อสาร แปลความ จับประเด็นจากการอ่านและการเขียน การพูดในที่สาธารณะ วิธีการนำเสนองาน การเขียนงานเชิงวิชาการ ทักษะในการสืบค้น การเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เช่น อินเตอร์เนต สื่อมัลติมีเดีย โซเชี่ยลมีเดีย ฯลฯ การแสวงหาความรู้และเลือกใช้ข้อมูลข่าวสารในการเข้าถึงองค์ความรู้ทั้ง บุคคล แหล่งความรู้และแหล่งเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทันต่อยุคสมัย หลักการ แนวคิด การออกแบบ การประยุกต์ใช้และการประเมินนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร การนำเสนองานผ่านเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและการใช้ภาษาและวัฒนธรรม

วิชาบังคับ

HEA 501 สารัตถะแห่งการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร
(Essence of Education and CurriculumDevelopment)
ศึกษาปรัชญา แนวคิด ทฤษฎีทางการศึกษา ประวัติความเป็นมาและระบบการจัดการศึกษาไทย วิสัยทัศน์และแผนพัฒนาการศึกษาไทยที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างศาสนา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ปรัชญาการศึกษาตามแนวพุทธธรรม การประยุกต์ใช้ปรัชญา ทฤษฎีพัฒนาสถานศึกษา และวิธีการจัดการศึกษาทฤษฎีหลักสูตร หลักการ แนวคิดในการจัดทำหลักสูตร การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ การวิเคราะห์หลักสูตร และการพัฒนาหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ มาตรฐานช่วงชั้นของหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่ครอบคลุมบริบทของท้องถิ่น และการส่งเสริมวินัย คุณธรรม จริยธรรม และความสามัคคีในหมู่คณะ ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตรการประเมินหลักสูตรและการนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษาต่อไป

HEA 502 จิตวิทยาการเรียนรู้และพัฒนาการที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง
(Learning Psychology and Brain – Based Learning)
จิตวิทยาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์การทำงานของสมองที่มีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลตามวัยภาวะการเจริญเติบโตของโครงข่ายเซลล์สมอง การเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นระบบและแบบแผนเชิงตรรกะจนถึงระบบที่สลับซับซ้อน การบริหารและออกแบบกิจกรรมเสริมหลักสูตร และกิจกรรมนักเรียน การพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้รู้จักการจัดการ การคิดเป็น และการฝึกฝนทักษะชีวิตของผู้เรียน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงบนฐานจิตวิทยาการศึกษา การทดลองเผชิญและปฏิสัมพันธ์กับสถานการณ์ต่างๆ การประยุกต์พื้นฐานของจิตวิทยาการแนะแนวและการให้คำปรึกษา การให้คำแนะนำในการเรียนรู้แก่ผู้เรียนรายบุคคล และดูแลช่วยเหลือผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม

HEA503 การเรียนรู้แบบบูรณาการ การวัดและประเมินผล
(Integrative Learning and Education Assessment)
ทฤษฎีการเรียนรู้และการสอน หลักการ แนวคิด แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการเรียนรู้ การจัดทำแผนการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงที่สร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การออกแบบและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ การบูรณาการสาระการเรียนรู้ การเรียนแบบเรียนรวม วิทยาการจัดการเรียนรู้ การใช้ การคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา การผลิตสื่อ และการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างเป็นระบบ หลักและเทคนิคการวัดและประเมินผลการศึกษา การสร้างและการใช้เครื่องมือวัดผลและประเมินผล การประเมินผลประเภทต่างๆ เช่น การประเมินตามสภาพจริง การประเมินจากแฟ้มสะสมงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินการทำงานเป็นกลุ่มย่อยและแบบรวม อย่างสอดคล้องกับหลักประกันคุณภาพทางการศึกษา โดยผ่านการปฏิบัติจริง

HEA 504 จิตวิญญาณความเป็นครู
(Conscience of Teacher)
กระบวนการพัฒนาตน การปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู คุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพครู สภาพงานครู คุณลักษณะและเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู คุณค่าและทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู พัฒนาการของวิชาชีพครู และการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ การสร้างความก้าวหน้าและพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสังเกตและเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ระบบกัลยาณมิตรนิเทศหรือเพื่อนร่วมโค้ช การจัดการความรู้ การแสวงหาและเลือกใช้ข้อมูลข่าวสารความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพให้มีความรอบรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนและกลยุทธ์การสอน การให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และสร้างความก้าวหน้าพัฒนาวิชาการอย่างต่อเนื่อง สะท้อนย้อนมองความเป็นครูของตน การเป็นผู้นำทางวิชาการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

HEA 505 การบริหารจัดการเพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้
(Professional Learning Community)
หลักการแนวคิดทฤษฎีและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพการศึกษาการบริหารจัดการระบบการศึกษาการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้การพัฒนาศูนย์การเรียนในสถานศึกษาการประกันคุณภาพการศึกษาการจัดการคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องการจัดกิจกรรมประเมินคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้และการบริหารจัดการห้องเรียนการออกแบบกระบวนการและโครงการเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้การสร้างองค์ความรู้ผ่านการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยประยุกต์ใช้จิตวิทยาพื้นฐานด้านการพัฒนามนุษย์ และการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง จิตวิทยาการศึกษา การแนะแนวให้คำปรึกษาเพื่อการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์ปัญหาเป็นฐาน กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือของผู้เรียนเป็นรายบุคคล และบุคคลต่างๆในการศึกษาการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำทางการศึกษาการมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ปรัชญาของสถานศึกษาให้มีอัตลักษณ์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดี

HEA 506 การวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
(Research for Learning Innovation Development)
ปรัชญาและธรรมชาติของการวิจัย ประเภทของการวิจัย กระบวนการวิจัย และหลักการออกแบบการวิจัยทางการศึกษาแบบต่าง ๆ ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และการผสมผสานวิธี ที่สัมพันธ์กับการสร้างและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ นวัตกรรม Waldorf, Reggio Emilia, Balance Literacy, Matal Program, Whole Language, Multiple Intelligence, BBL, Open Approach, Holistic Education,จิตตปัญญาศึกษา ฯลฯรวมทั้งการจัดกระบวนการและกิจกรรมการเรียนรู้ ศิลปะ สื่อตำราและสื่อสารสนเทศอื่นๆ การกําหนดกลุ่มตัวอย่าง การสร้างและตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเลือกใช้สถิติหลักการและเทคนิคการวัดผลและประเมินผลทางการศึกษาการเขียนโครงการวิจัย การเขียนรายงานการวิจัย การเผยแพร่ผลงานวิจัย การประเมิน การสังเคราะห์และการนําผลการวิจัยไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา

HEA 531 การบริหารการศึกษาแนวพุทธ
(Management of Buddhist Approach to Education)
การประยุกต์องค์ความรู้จากปรัชญาของพุทธศาสนา สู่การศึกษา 2ระดับ ได้แก่ระดับปัจเจกบุคคลและระดับบริหารสถานศึกษา การนำเสนอความหมายของพระพุทธศาสนาในแนวทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม การศึกษาเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา (มรรคมีองค์ 8) สู่การกำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งสามารถพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และตระหนักในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การใชัหลักธรรมคือกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการเพื่อพัฒนากระบวนการบริหารการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา และบทบาทครูที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีบทบาทหลักในการเรียนรู้ ผ่านการลงมือปฏิบัติ การใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้บนสถานการณ์จริง การจัดการสถานศึกษาดัวยหลักธรรมาภิบาลและความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยระบบการประเมินผลตามหลักกุศลกรรมบท 10ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ตลอดจนบุคลากรมีการปฏิบัติภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน 4สามารถทบทวนตนเอง สะท้อนคิดและบ่มเพาะจิตสำนึกสาธารณะ และร่วมกันพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้คู่คุณธรรม

HEA 571 หลักและกระบวนการบริหารการศึกษา
(Principle of Educational Administration Process)
ศึกษาและวิเคราะห์หลักการและทฤษฎีทางการบริหาร ระบบการจัดการศึกษา การบริหารงานวิชาการเพื่อคุณภาพและความเป็นเลิศ การบริหารองค์กร สำนักงาน งานบุคคล ธุรการ การเงิน พัสดุ อาคารสถานที่ การวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการบริหารการศึกษารวมทั้งการระดมทรัพยากรทางการศึกษา การกำหนดนโยบาย แผน กลยุทธ์ การปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยงานทางการศึกษา บทบาทของผู้บริหารในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่นและสังคม ในการจัดการศึกษาอย่างมีจิตวิญญาณ และอุดมการณ์ ตลอดจนการพัฒนาวิชาชีพ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา แนวคิดการจัดการศึกษา นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการศึกษาและการเรียนรู้การบริหารงานระบบเครือข่าย และการจัดการความรู้วิชาชีพผู้บริหารการศึกษา

HEA 572การนิเทศการศึกษาและพัฒนาคุณภาพครู
(Supervision and Teacher Development)
ศึกษาหลักและแนวคิดการนิเทศการศึกษา เทคนิคการนิเทศรูปแบบต่างๆ การพัฒนาคุณภาพครูผ่านการปฏิบัติงานจริงด้วยความเป็นกัลยาณมิตร บทบาทของศึกษานิเทศก์ในการพัฒนาศักยภาพครู ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การเลือกใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรู้เท่าทัน และเหมาะสมกับบริบทสถานศึกษาที่ส่งเสริมผู้เรียนให้เติบโตตามศักยภาพรายบุคคลส่งเสริมให้ครูมีความเป็นผู้นำในการกล้าคิด กล้าเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด กล้าแสดงออกอย่างถูกกาละเทศะ ค้นคว้ารูปแบบและนำเสนอการพัฒนาศักยภาพของครูด้วยกิจกรรมทางวิชาการ และสังเคราะห์ระบบการนิเทศอย่างครบวงจร ตามบริบทมหภาค และภูมิสังคม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิธีการสอนของครูแต่ละคน พัฒนาวิธีคิด และการตรวจสอบตัวเอง การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมภาวะผู้นำ จิตวิทยาการนิเทศ และเทคนิคการสื่อสาร การสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อลดความขัดแย้งและพัฒนาคณะทำงานอย่างมีส่วนร่วม การสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษา ชุมชน และท้องถิ่น การกำกับ ติดตาม ส่งเสริม และประเมินสถานศึกษา

HEA 573นโยบาย การวางแผนและการประกันคุณภาพการศึกษา
(Strategic Policy and Quality Assurance in Education)
ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบาย การวางแผนการศึกษาที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม การวางแผนดำเนินการ การวางระบบประกันคุณภาพภายในและภายนอก และนำผลการประกันคุณภาพ มากำหนดนโยบายใหม่ กรณีศึกษาภาวะผู้นำ พฤติกรรมผู้นำ ตลอดจน ผู้นำที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี การวางระบบกำกับ ติดตาม ส่งเสริม การประเมินสถานศึกษาและนำผลการประกันคุณภาพการศึกษาไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

HEA 507สัมมนาการศึกษาแบบองค์รวม
(Seminaron Holistic Education)
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอ การอภิปรายหัวข้อที่น่าสนใจทางด้านนวัตกรรมการจัดการศึกษาและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารและการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดและบริบทการศึกษาทั้งตะวันตกและตะวันออก และนำไปสู่การกำหนดนโยบาย การวางแผนกลยุทธ์การบริหารการศึกษาเพื่อการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยงานทางการศึกษาหรือบริบทมหภาคและภูมิทางสังคม ตลอดจนการประเมิน วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ความรู้เรื่องดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาแบบองค์รวมและการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี


วิชาเลือก
ชุดวิชาที่ 1 บูรณาการด้วยหลักศิลปะ ละคร ดนตรี และสื่อการเรียนรู้
(Visual Art, Drama, Music and Learning Media Approach)

HEA 541 ศิลปวิจักขณ์
(Arts Appreciation)
ศึกษาและฝึกปฏิบัติการรับรู้งานศิลปะอย่างมีรสนิยม โดยการฝึกฝนอายตนะทั้ง 6 ต่อการรับและสัมผัสงานศิลปะต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย นอกจากนี้ ผู้เรียนจะได้มีโอกาสสัมผัสตัวอย่างที่ดีเลิศของงานศิลปะแขนงต่างๆ ในบริบทต่างๆ เช่น การชมภาพยนตร์และละครเวที หรืองานพุทธศิลป์ชิ้นเอก และสามารถนำมาวิเคราะห์ถึงคุณค่าความงามในมิติที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีสายตาสามารถแยกแยะ และชื่นชมคุณค่าความงามที่แท้ได้

HEA 542 การเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านศิลปะบูรณาการ
(Experiential Learning through Integrated Arts)
ศึกษาและฝึกปฏิบัติการบูรณาการของงานศิลปะในบริบทจริงทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น หนังตะลุง ลิเก พิธีลอยเรือ ผีตาโขน รำผีฟ้า ฯลฯ ทำการบันทึก วิเคราะห์ จากการลงภาคสนาม เพื่อทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งมีบทบาทในการสื่อสาร สร้างศรัทธา สะท้อนความเชื่อ สืบทอดจารีตประเพณี และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

HEA 543 สาระและคุณค่าของกระบวนการทำงานศิลปะ
(Essential Value of the Arts Creative Process)
ฝึกฝนทักษะการถอดรหัสกระบวนการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งผ่านการทำงานศิลปะ เช่น ทัศนศิลป์ ละคร ดนตรี ภาพยนตร์ ฯลฯ ผู้เรียนจะเข้าถึงคุณค่าแห่งความดี ความงาม และความจริง ฝึกฝนทักษะการนำเสนอประสบการณ์การถอดรหัสการเรียนรู้นั้นๆ

HEA 544 การบูรณาการศิลปะสู่การเรียนรู้ในชั้นเรียน
(Integrating the Arts in Classroom)
ฝึกทักษะการออกแบบการเรียนรู้ผ่านศิลปะแขนงต่างๆ และการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างมีสุนทรียภาพ จนเกิดความชำนาญในการประยุกต์ใช้สิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นสื่อในการเรียนรู้ เช่น ธรรมชาติ ภาพยนตร์ เพลง ข่าวสาร เรื่องเล่า นิทาน ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดจินตนาการและสร้างประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง

ชุดวิชาที่ 2 บูรณาการด้วยหลักการดูแลสุขภาพและป้องกันตัววิถีไทย
(Thai Martial Art and Health Care Approach)

HEA 551 ภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพและป้องกันตัววิถีไทย
(Wisdom of Thai Martial Art and Health Care)
วิเคราะห์สังเคราะห์แนวคิดปรัชญาของศิลปะการดูแลสุขภาพและการป้องกันตัววิถีไทยผ่านคติความเชื่อของศาสตร์ตะวันออกองค์ความรู้ด้านการดูแลและป้องกันตัววิถีไทยวิธีการนำศิลปะการป้องกันตัวมาใช้ในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพ

HEA 552การป้องกันตัววิถีไทย
(Thai Martial Art)
ศึกษาปรัชญา หลักการ จรรยาบรรณ ของศิลปะการป้องกันตัววิถีไทยฝึกปฏิบัติเทคนิค ทักษะการสร้างความพร้อมทั้งกายและใจในการป้องกันตัววิถีไทย ฝึกปฏิบัติเทคนิค ทักษะการป้องกันตัวด้วยการใช้มือเปล่าและการใช้อาวุธ

HEA 553วิทยาศาสตร์การกีฬากับการป้องกันตัววิถีไทย
(Sport Science and Thai Martial Art)
ศึกษาปรัชญาและหลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพสรีรวิทยาการกีฬาจิตวิทยาการกีฬาชีวกลศาสตร์การกีฬาเวชศาสตร์การกีฬา และเทคโลยีการกีฬาเพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมของร่างกาย จิตใจและการเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัววิถีไทย

HEA 554นวัตกรรมการดูแลสุขภาพและป้องกันตัววิถีไทย
(Innovation in Thai Martial Art and Health Care)
การบูรณาการศาสตร์การป้องกันตัวและการดูแลสุขภาพกับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพและป้องกันตัววิถีไทย

ชุดวิชาที่ 3 บูรณาการด้วยหลักการเรียนรู้ของการศึกษาพิเศษ
(Special Education Approach)

HEA 561 กระบวนทัศน์ทางการศึกษาพิเศษ
(Paradigm in Special Education)
การปรับเปลี่ยนแนวทางที่มุ่งรักษา “โรค” ไปสู่การช่วยเหลือ “คน” โดยเริ่มต้นจากการประเมินพัฒนาการแบบ องค์รวม เพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบการรับรู้ การประมวลผล และระบบสั่งการกล้ามเนื้อของเด็กรายบุคคลไปสู่ การกระตุ้นพัฒนาการพื้นฐานด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับระบบประสาทของเด็กแต่ละคน โดยอาศัยปฏิสัมพันธ์กับผู้ใกล้ชิดในสถานการณ์จริง (Developmental Individual difference Relationship-based, DIR approach)การศึกษาให้เกิดความเข้าใจถึงลักษณะของเด็กพิเศษกลุ่มต่างๆ รวมทั้งเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (ปัญญาเลิศ) รู้เทคนิควิธีการสังเกตพฤติกรรมและความเข้าใจเพื่อหาความสามารถเฉพาะ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาดนตรี กีฬา ศิลปะฯ ทั้งนี้เพื่อให้ครูมีมุมมองในการช่วยเหลือหรือปรับลดพฤติกรรมของเด็กให้เป็นปกติ มีแนวคิดในการจัดการชั้นเรียนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อพัฒนาเด็ก ทั้งการจัดทำหลักสูตรแบบเพิ่มประสบการณ์ การขยายหลักสูตร การย่นระยะเวลาเรียนรวมถึงการใช้ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอดจนการพัฒนาความสามารถทางอารมณ์ สังคม และการสร้างเสริมคุณธรรม

HEA 562 การจัดการชั้นเรียนการศึกษาพิเศษ
(Class Management for Special Education)
ศึกษาถึงหลักการสร้างสัมพันธภาพกับเด็ก การสื่อสารกับผู้ปกครอง การประเมินพฤติกรรมผู้เรียนที่มีลักษณะเฉพาะตน เพื่อพัฒนาทักษะครูในการสังเกตความแตกต่างในพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน ทั้งในด้านความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือด้านสติปัญญาเลิศเรียนรู้เร็ว เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมศักยภาพหรือแก้ไข ให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพขึ้นทั้งวิธีการปรับอารมณ์เด็กเข้าสู่ภาวะปกติ การจัดพื้นที่ห้องเรียน การวางแผนเรื่องเวลา กิจวัตร การใช้สื่ออุปกรณ์ การจัดทำแผนการเรียนเฉพาะรายบุคคล(IEP) โดยผสมผสานทฤษฎีการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับพัฒนาการของสมอง (Brain – Based Learning) เป็นแนวทางจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก

HEA 563 ความเป็นครูการศึกษาพิเศษ
(Special Education Teacher)
ศึกษา ทำความเข้าใจ พัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กปกติและเด็กพิเศษ สร้างกระบวนการเรียนรู้ วางแผนกิจกรรม เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการที่สอดคล้องกับศักยภาพและความสนใจ อันเป็นลักษณะเฉพาะของเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ภาษา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี กีฬา ฯ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับระบบการรับรู้ การประมวลผล รวมทั้งระบบการสั่งการกล้ามเนื้อของเด็กเป็นรายบุคคล ฝึกใช้ความต้องการและอารมณ์ความรู้สึกของเด็กเป็นเครื่องขยายทักษะต่างๆ ด้วยท่าทีที่เป็นกัลยาณมิตรและพลังแห่ง “สติ” ของครู โดยไม่เพ่งเล็งพฤติกรรมและการเรียนรู้ของเด็กมากเกินไป บังเกิดความสุขในการทำงานของครู มีความวางใจและยอมรับในศักยภาพที่เกิดขึ้นของเด็กแต่ละคน

HEA 564 ศิลปะกับการศึกษาพิเศษ1 (ดนตรี)
(Art and Special Education 1 : Music)
ศึกษาดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากล ในเรื่องของเครื่องดนตรี วงดนตรี และเพลงดนตรี และการใช้กระบวนการฝึกทักษะดนตรีเพื่อช่วยปรับพฤติกรรมการเรียนรู้ ในด้านสมาธิและอารมณ์ ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพพิเศษด้านดนตรีของผู้เรียน วิธีการประเมินผลโดยเน้นที่ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ ช่วยให้เกิดความสุขและมีสมาธิในการเรียนวิชาอื่นๆ ต่อไป

HEA 565 ศิลปะกับการศึกษาพิเศษ2 (หัตถศิลป์)
(Art and Special Education 2 : Craft Arts)
การฝึกหัดการทำงานศิลปะโดยให้เรียนรู้ทักษะ ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจเริ่มตั้งแต่การสังเกต จนจิตใจจดจ่อตั้งมั่นอยู่กับการงาน เป็นการทำงานอย่างรู้ตัว และรู้คุณค่าของการงาน เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมการเรียนรู้ ในด้านสมาธิและอารมณ์ ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพพิเศษด้านศิลปะของผู้เรียน วิธีการประเมินผลโดยเน้นที่ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ ช่วยให้เกิดความสุขและมีสมาธิในการเรียนวิชาอื่นๆ ต่อไป

HEA 566 ศิลปะกับการศึกษาพิเศษ3 (กีฬาไทยและศิลปะการป้องกันตัววิถีไทย) 2
(Art and Special Education 3 : Thai Sport and Martial Arts)
ความสำคัญและคุณค่าของกีฬาไทยและศิลปะการป้องกันตัววิถีไทย หลักการเล่น ประเภทของกีฬาและการพัฒนา บุคลิกภาพ ฝึกปฏิบัติเพื่อช่วยปรับพฤติกรรมการเรียนรู้ ในด้านสมาธิและอารมณ์ ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพพิเศษด้านกีฬาของผู้เรียน วิธีการประเมินผลโดยเน้นที่ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ ช่วยให้เกิดความสุขและมีสมาธิในการเรียนวิชาอื่นๆ ต่อไป

HEA 567สัมมนาการดูแลเด็กพิเศษ
(Seminar in Special Child Care)
การประชุมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติ ตลอดจนการศึกษาดูงานและรับฟังวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อเกี่ยวกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ ภาวะการเรียนรู้ที่ติดขัดและประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีลักษณะอาการต่างๆ การทำงานกับพ่อแม่ ซึ่งควรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการช่วยปรับพัฒนาการของเด็ก การทำงานร่วมกับสหวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางการจัดการเรียนสำหรับเด็กพิเศษในโรงเรียน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเด็กพิเศษ และทิศทางการส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษขององค์การระหว่างประเทศซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการศึกษาของรัฐ

วิชาเลือกพิเศษ

HEA 532 พุทธศาสนากับการศึกษา
(Buddhism and Education)
พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา ซึ่งถือว่าการศึกษาเป็นกิจกรรมของชีวิตโดยชีวิตและเพื่อชีวิตอย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต ไม่จำกัดอยู่ในระบบการศึกษาหรือในห้องเรียนพุทธศาสนิกชนจึงควรเป็นผู้ศึกษาใฝ่หาความรู้และมีจิตสำนึกในการศึกษาอยู่ตลอดเวลา โดยการฝึกฝนพัฒนาตนเองให้ดำเนินชีวิตให้ถึงความถูกต้องดีงาม

HEA 568 การฝึกปฏิบัติการสอน
(Teaching Professional Practicum)
การจัดการเรียนรู้ และจัดสภาพแวดล้อมในการจัดการชั้นเรียน สามารถจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง การสังเกตผู้เรียน ระบบกัลยาณมิตรนิเทศ การปฏิบัติการสอน การบันทึกหลังการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้แบบมอบอำนาจให้ผู้เรียน และแบบเสริมพลังผู้เรียน การวิจัยในชั้นเรียน และการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นครู และผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ

HEA 569 การฝึกปฏิบัติการการบริหารการศึกษา
(Educational academic management practicum)
สร้างประสบการณ์ด้วยการปฏิบัติงานด้านการบริหารนโยบาย และกลยุทธ์การศึกษา การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ทางการศึกษา การบริหารงบประมาณ การเงินและการบริหารทั่วไป การบริหารการวิจัยและการบริหารวิชาการการศึกษาการนิเทศการสอน รวมทั้งปัญหาขององค์การ การวางแผน การประเมินผล การตัดสินใจและกิจกรรมการบริหารอื่นๆ ตามที่อาจารย์ผู้สอนกำหนดและมีการศึกษานอกสถานศึกษา

HEA 560 วิทยานิพนธ์
(Thesis)
การกำหนดปัญหาการวิจัย วางแผนการวิจัยทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์ออกแบบการวิจัยในด้านการเลือกหรือกำหนดกลุ่มตัวอย่าง การออกแบบ การวัดตัวแปร การออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำโครงการวิทยานิพนธ์และนำเสนออนุมัติโครงการวิทยานิพนธ์สร้างเครื่องมือวิจัย ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือและเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล การเสนอผลสรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ การเสนอร่างบทความวิจัยสำหรับการเผยแพร่ การเขียนและเรียบเรียงรายงานการวิจัยและการนำเสนอรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ในการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์

HEA 570 สารนิพนธ์
(Master Project)
การศึกษาค้นคว้าเชิงลึกด้านการศึกษาแบบองค์รวมทั้งกลุ่มวิชาหลักสูตรและการสอน และ/หรือการบริหารการศึกษา ในหัวข้อที่สนใจ การทำรายงานสารนิพนธ์โดยใช้รูปแบบและกระบวนการวิจัยภายใต้การให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษา

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถประกอบอาชีพต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ทุกรูปแบบทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน ดังนี้

• ผู้รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนการศึกษาในระบบ

• ผู้จัดการเรียนรู้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

• วิทยากรกระบวนการเพื่อการฝึกอบรมด้านการจัดการศึกษาในทุกระบบและทุกรูปแบบ

• นักวิชาการศึกษาด้านการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร และการบริหารการศึกษา

• นักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ด้านการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร และการบริหารการศึกษา

• ผู้ริเริ่มในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียน (home school)

• ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่จัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

• ศึกษานิเทศก์ที่จัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

คณาจารย์

ดร.วรพล อังกุรัตน์

ผู้อำนวยการหลักสูตร

ดร.สุจินดา ขจรรุ่งศิลป์

อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

ดร.สุนีย์ ชัยสุขสังข์

อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง

อาจารย์ประจำหลักสูตร

อาจารย์ลักษณ์ เอกบุตร

อาจารย์ประจำหลักสูตร

อัตราค่าธรรมเนียมและค่าเล่าเรียน

อัตราค่าลงทะเบียนตลอดหลักสูตร

ก.ค่าธรรมเนียมในการสมัครและสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
ทุกหลักสูตร 700 บาท (ชำระเมื่อยื่นใบสมัคร)

ข.ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา*
(เฉพาะภาคศึกษาแรกที่เข้าศึกษา) 1,000 บาท

ค.ค่าบำรุงการศึกษา (อัตราต่อภาคการศึกษา)
• ค่าบำรุงกิจกรรมเสริมหลักสูตร
1,000 บาท
• ค่ากิจกรรมนักศึกษาและกิจกรรมกีฬา
1,000 บาท
•ค่าบำรุงห้องพยาบาลและเวชภัณฑ์
1,000 บาท
• ค่าบำรุงสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต
1,500 บาท
• ค่าบำรุงห้องสมุด
1,500 บาท
• ค่าอุปกรณ์ปฏิบัติการเชิงวิชาชีพ *
5,000 บาท

ง.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิต
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม    หน่วยกิตละ    7,000 บาท   

จ.ค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายเฉพาะหลักสูตร
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
จำนวนเงิน  147,000 บาท
ให้นักศึกษาชำระภาคการศึกษาแรก จำนวน 37,500 บาท และ ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่สองภาคการศึกษาละ 36,500  บาท  มีรายละเอียดดังนี้

• ค่าบำรุงการศึกษาและค่าลงทะเบียนหน่วยกิต
ภาคการศึกษาละ 36,500  บาท  ระยะเวลา 2 ปี จำนวน 146,000 บาท 
• ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
1,000 บาท ในภาคการศึกษาแรก

หมายเหตุ : อัตราค่าลงทะเบียนหน่วยกิตแบบเหมาจ่ายทุกหลักสูตร ยังไม่รวม ค่าธรรมเนียมในการสมัคร/สอบคัดเลือก ค่าใช้จ่ายช่วงสำเร็จการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการออกภาคสนาม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอน 

ฉ.ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด
• ค่าปรับลงทะเบียนเรียนล่าช้ากว่ากำหนด
โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน (วันละ) 200 บาท
หากมีความจำเป็นขอให้ทำหนังสือชี้แจงมายังสถาบันฯเพื่อพิจารณา มิฉะนั้นการลงทะเบียนนั้นเป็นโมฆะ

• ค่าธรรมเนียมรักษาสถานภาพนักศึกษา
ระดับปริญญาโท (ภาคการศึกษาละ)   2,000 บาท
• ค่าหนังสือแสดงผลการศึกษา
150 บาท
• หนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักศึกษา
150 บาท
• ค่าขอเทียบโอนวิชาจากสถาบันอื่น
(ครั้งละ) 1,500 บาท
• ค่าธรรมเนียมนำเสนอโครงร่างและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์
5,000 บาท
• ค่าธรรมเนียมบัตรนักศึกษาที่ขอใหม่
(ใบละ) 200 บาท
• ค่าธรรมเนียมช่วงสำเร็จหลักสูตร
5,000 บาท
• ค่ากิจกรรมภาคสนามในประเทศและต่างประเทศ
พิจารณาตามความเหมาะสม

ช. ค่าปรับการส่งหนังสือห้องสมุดเกินกำหนด
• หนังสือทั่วไป
(เล่ม/วันละ) 10 บาท
• หนังสือจอง
(เล่ม/ชั่วโมง) 10 บาท
• หนังสือจอง
(วันละ) 80 บาท

ปฏิทินการศึกษา
FAQ คำถามที่พบบ่อย

1.สอบอะไรบ้าง
การสอบข้อเขียน ประกอบด้วย
– วัดความรู้ และทักษะการอ่าน การวิเคราะห์ การตีความ บทความภาษาไทย
– วัดความรู้ และทักษะการอ่าน การวิเคราะห์ การตีความ บทความภาษาอังกฤษ
สำหรับการสัมภาษณ์ เน้นที่ทักษะการพูด โดยเฉพาะการพูดในที่ชุมชน ครับ โดยสุ่มหยิบเรื่องจากกรรมการสอบ (หมายรวมถึงในห้องเรียน ในสถานศึกษา และชุมชนโดยรอบ)

2.ได้ใบประกอบวิชาชีพไหม
ที่ผ่านมาได้ใบประกอบวิชาชีพทันที แต่ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปทางคุรุสภาได้ออกกฏใหม่ ให้ผู้ที่ต้องการใบประกอววิชาชีพครูต้องไปสอบกับคุรุสภา ซึ่งทางเราจะออกใบรับรองเพื่อพร้อมไปสอบให้

ผลงานและกิจกรรม

ครูสอญอ ครูเลือดใหม่
ที่คิดว่าเด็กจะต้องเรียนรู้
มากกว่าในห้องเรียน
ครูสัญญา มัครินทร์ หรือ ครูสอญอ ครูเลือดใหม่จากขอนแก่น ที่คิดว่าเด็กจะต้องเรียนรู้มากกว่าในห้องเรียน จากการที่ไปดูงานโรงเรียนในญี่ปุ่นกับดูให้รู้มา ครูสอญอจึงจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ หาเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเชียงใหม่ด้วยตัวเอง เพื่อไปเรียนรู้กิจกรรมที่ต่างออกไปจากในห้องเรียน

จากรุ่นสู่รุ่น