บ้านเฮือนธรรม

รางวัลผลงานออกแบบดีเด่นที่ควรเผยแพร่ ปี 2553 สมาคมนิสิตเก่า สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รางวัลผลงานออกแบบดีเด่นที่ควรเผยแพร่ ปี 2554 สมาคมนิสิตเก่า สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความเป็นมา

บ้านเฮือนธรรม คือบ้านที่ถูกออกแบบและปลูกสร้างให้มีหมู่เรือนหลายหลังเรียงรายอยู่ร่วมกันเพื่อใช้เป็นสถานที่พักอาศัยทำงานและใช้ชีวิตในบั้นปลายของ เจ้าของบ้านสองท่าน คือ พี่อึ่ง (คุณสมยศ สุภาพรเหมินทร์) และลุงอุษา (คุณอูซาโบโระ ซาโตะ) ร่วมกับครอบครัวพี่สาวและพี่เขยของคุณสมยศที่ตั้งใจจะมาใช้ชีวิตอยู่เพื่อ พักรักษาตัวจากการป่วยเป็นอัมพาตรวมถึงกลุ่มคนทำงานเกี่ยวกับผ้า แม่บ้านและคนทำสวน พี่อึ่ง และ ลุงอุษา ได้พบ ทำความรู้จัก และทำงานเกี่ยวกับผ้าธรรมชาติทอมือ ร่วมกันที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปีก่อนจะตกลงใจวางแผน การปลูกเฮือนหลังนี้ ก่อนที่เจ้าของบ้านจะมาพบกับอาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมนั้น โครงการสร้างบ้านหลังนี้ได้ผ่านกระบวนการออกแบบจากทั้งสถาปนิกชาวไทยและ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นมาแล้วถึงสองท่านด้วยกัน แต่เพราะเจ้าของบ้านเกิดความรู้สึกว่าการทำงานออกแบบที่รวดเร็วของสถาปนิก ทำให้ตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในขั้นตอน ต่างๆของการทำบ้านที่ตนเองจะอาศัยอยู่เพื่อเป็นบ้านหลังสุดท้ายในบั้นปลายของชีวิตท้ายที่สุดกัลยาณมิตรของเจ้าของบ้านจึงแนะนำให้เจ้าของบ้านมาพบกับ อาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม เกิดการพูดคุย สานสัมพันธ์ จนพัฒนาเป็นการทำงานร่วมกันในที่สุด

“เตรียมใจ” เพื่อก้าวข้ามความกลัว

การพูดคุย และทำความรู้จักกันในเบื้องต้น เราพบว่าโดยพื้นฐานแล้วเจ้าของบ้านเป็นคนที่มีความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ความต้องการผลงานที่มีความ เป็นงานทำมือ (Hand made) ที่มีความประณีต ละเอียดอ่อน พิถีพิถันกับทุกสิ่งในการดำเนินชีวิต และมีความประสงค์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับเราทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้บ้านที่ตรงความต้องการมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากวิธีการทำงานในระบบทั่วไป (conventional) ที่สถาปนิกคุ้นเคย ซึ่งมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรม (Factory made) และไม่ได้มีกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้อยู่อาศัยมากนัก นอกจากนั้นความคาดหวังของเจ้าของบ้านที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญในแง่จิตวิญญาณเพื่อเป็นบ้าน หลังสุดท้ายของชีวิตและเป็นสถาปัตยกรรมที่สืบสานมาจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นนั้นก็เป็นสิ่งที่สถาปนิกไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมมาก่อน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้สถาปนิกเกิดความกลัวและไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำงานชิ้นนี้ได้สำเร็จตรงตามความต้องการของเจ้าของบ้านได้ แต่ด้วยการเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของโครงการดังกล่าวอีกทั้งประเด็นเรื่องสถาปัตยกรรมที่ให้ความสำคัญกับมิติด้านจิตวิญญาณ และการสืบสานภูมิปัญญาพื้นถิ่นนั้นก็เป็นสิ่งที่สถาปนิกมีความสนใจอยากที่จะเรียนรู้สถาปนิกจึงตัดสินใจที่จะก้าวข้ามความกลัวและรับทำงานออกแบบโครงการนี้ ด้วยการเตรียมใจที่สำคัญ 2 ประการคือ

1. ตั้งเป้าหมายในการทำงานอย่างสร้างสรรค์
ก้าวข้ามความกลัวความผิดพลาดและการถูกตำหนิด้วยการตั้งเป้าหมายในการทำงานออกแบบครั้งนี้ไม่ให้เป็นการทำงานเพื่อผลงานที่มาเสริมสร้างอัตตาของ สถาปนิก หรือเพื่อแลกกับเงิน แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิกอย่างเป็น กัลยาณมิตร
2. การตั้งใจทำงานแบบอุทิศตัว (devote) และการเรียนรู้จากของจริง
ก้าวข้ามความกังวลในความไม่รู้ด้วยการลงมือทำแบบอุทิศตัว และเผชิญความไม่รู้ด้วยการเรียนรู้จากของจริงและการลงมือทำ

การตั้งเป้าหมายเชิงคุณค่า

ก่อนเริ่มต้นกระบวนการออกแบบสถาปนิกใช้เวลาร่วมกับเจ้าของบ้านในการ พูดคุย สื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันสำหรับ การออกแบบบ้านโครงการนี้ ซึ่งเราได้กำหนดเป้าหมายหลักไว้ 4 ประการ คือ 1) เป็นบ้านที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ 2) เป็นบ้านที่ใช้พุทธธรรมนำชีวิตเพื่อการอยู่และการตายอย่างสงบ 3) เป็นบ้านของชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข 4) เป็นบ้านที่ปลูกสร้างขึ้นจากการนำภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้ นอกจากเป้าหมายหลักแล้ว เรายังปรารถนาที่จะดำเนินการออกแบบโดยให้ทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน หมู่กัลยาณมิตร สถาปนิก และช่างรับเหมา ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับบ้านแบบครอบครัวขยาย (Extended family) ในทุกกระบวนการของการทำบ้าน ให้บ้านเป็นประหนึ่งสิ่งมีชีวิต ที่มีการเติบโต เปลี่ยนแปลง และสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลา ตามความเหมาะสมในการใช้สอยเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากบ้านได้อย่างเต็มที่

นำธรรมชาติเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรม... การโอบกอดจากธรรมชาติ

“.. อยู่อย่างไรก็ตายอย่างนั้น ให้อยู่กับธรรมชาติ ธรรมชาติจะช่วยสอนเราให้เห็นอนิจจัง เห็นความไม่เที่ยง ..”

เป็นคำกล่าวที่ พระไพศาล วิสาโล ได้อธิบายกับเรา เจ้าของบ้านและสถาปนิกระหว่างการเข้าปฏิบัติธรรมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจถึงแก่นในการออกแบบบ้านสำหรับการอยู่อาศัยในช่วงเวลาบั้นปลายของชีวีต เราจึงตั้งใจออกแบบเรือนต่างๆ ให้สามารถแสดงถึงพลังของธรรมชาติภายในพื้นที่โครงการ เพราะโครงการนี้ อยู่ภายในพื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ่ให้ร่มเงา ถูกโอบกอดด้วยภูเขาใหญ่หลายลูกเพื่อสร้างสถาปัตยกรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติแวดล้อมอย่างสมบูรณ์เราจึงเน้นที่การออกแบบในลักษณะของสถาปัตยกรรม พื้นถิ่นเขตร้อนชื้น (Tropical Vernacular Architecture) เป็นสถาปัตยกรรมที่มีสัดส่วนและรูปทรงถ่อมตัวอยู่ภายใต้ผืนฟ้าและร่มเงาของต้นไม้ เปิดโล่ง อยู่ร่วมกับธรรมชาติ อย่างเปิดเผย มีพื้นที่ใต้ถุนเรือนและชานเรือนสำหรับนั่งนอนเอกเขนกได้ทุกเวลาที่ต้องการมีมุมมองจากภายในสู่ภายนอก(InsideOut) สัมพันธ์ต่อเนื่องกับต้นไม้ใหญ่ทั้งหมด ที่เราตั้งใจเก็บไว้ และภูเขาที่โอบล้อม เพื่อเปิดโอกาสในการสัมผัสธรรมชาติรอบข้าง ให้ได้สังเกตถึง ไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยปกติในธรรมชาติ เราจงใจให้ธรรมชาติ ได้แก่ ผืนดิน ภูเขา ผืนฟ้า และสายลม ประกอบรวมกันเป็นเรือน เป็นพลังใจ เป็นหมู่เฮือนเพื่อการอยู่และการตายอย่างสงบสุข ในอ้อมกอดแห่งขุนเขา

ศาลาธรรม... ใจบ้าน... การสร้างชุมชนกัลยาณมิตรที่นำไปสู่การมีจิตใจที่ใหญ่ สงบเย็น

ด้วยสถาปนิกเห็นความสำคัญของการเจริญเมตตากรุณา และการอยู่ท่ามกลางชุมชนของกัลยาณมิตร ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การมีจิตใจที่ใหญ่ เปิดกว้าง และสงบเย็น จึงได้แลกเปลี่ยนกับเจ้าของบ้าน และเสนอให้ยกระดับเป้าหมายจากการสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยเฉพาะตนเองและครอบครัวในบั้นปลายของชีวิต ไปสู่การสร้าง ชุมชนของกัลยาณมิตร โดยออกแบบพื้นที่ “ใจบ้าน” ให้เป็นศาลาธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ดูแลกัลยาณมิตรที่เชิญมาเข้าร่วมปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งเตรียมกุฏิสำหรับครูบาอาจารย์ที่ จะมาแสดงธรรม เป็นการสร้างเงื่อนไขให้เจ้าของบ้านมีโอกาสได้เจริญเมตตากรุณา ซึ่งจะขัดเกลาให้เป็นคนที่มีจิตใจที่ใหญ่ในการให้ และจะเป็นพื้นฐานไปสู่การมีจิตใจที่ดี ที่สงบเย็น ศาลาธรรมหลังนี้จึงเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ ที่ประกอบด้วยเรือนย่อยหลายเรือนรายล้อมอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ที่มีผู้คนหลายกลุ่มเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เป็นผู้คนที่มีกิจกรรม และมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป นอกจากเป็นศูนย์กลางของพื้นที่แล้ว ศาลาธรรมจะทำให้เกิดการแบ่งปันพื้นที่ทางธรรม ทำให้เจ้าของบ้าน เป็นผู้ที่เปิดใจเพื่อเป็นผู้แบ่งปันแก่หมู่กัลยาณมิตรได้ใช้พื้นที่สำหรับพักกายใจ ปฏิบัติธรรมและสนทนาธรรม รวมทั้งให้ทุกคนที่ใช้พื้นที่เกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกับธรรมชาติ แวดล้อม

..ให้ศาลาธรรม เป็นพื้นที่ทางธรรม เป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรม และเป็นพื้นที่สนทนาธรรม.. 
..ให้ศาลาธรรม เป็นสถานที่พักกาย พักใจ ของหมู่มิตร..
..ให้ศาลาธรรม เป็นที่สำหรับสร้างปฏิสัมพันธ์ในหมู่เพื่อน..
..ให้ศาลาธรรม เป็นพื้นที่ที่หมู่มิตรได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติรอบกาย ภูเขา แสงแดด และสายลมเย็น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว..

จุติจิต... ความคุ้นชินของจิตจากวิถีชีวิตประจำวัน

เอื้อให้จิตคุ้นชินกับวัตถุธรรมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของพื้นที่คือพระธาตุที่ประดิษฐานอย่างสงบนิ่งบนยอดเขาฝั่งตรงข้าม โดยออกแบบทางเดินเข้าห้องนอน ของเจ้าของบ้านให้เปิดมุมมองไปยังพระธาตุเพื่อการสัมผัสและน้อมนำจิตใจสู่พระพุทธองค์ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้จิตมีความคุ้นชินกับกุศลธรรม เป็นจิตที่มีพลังที่จะส่งผล ต่อจุติจิตหรือวัวปากคอก ที่จะนำไปสู่การเกิดในภพภูมิที่ดีเมื่อถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

สืบสานภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในยุคสมัยปัจจุบัน

สถาปนิกและเจ้าของบ้านได้ร่วมกันลงพื้นที่ไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวชุมชนเป็นระยะเวลานานหลายครั้ง เพื่อซึมซับ ถอดรหัสคุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ลึกซึ้ง และนำมาประยุกต์ใช้ในสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่สามารถตอบสนองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้ความถ่อมตน ต่อธรรมชาติเช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ทั้งการออกแบบโดยใช้ไม้เก่าเป็นวัสดุหลัก ประยุกต์เข้ากับวัสดุสมัยใหม่ ได้แก่ โครงสร้าง คอนกรีต เหล็ก กระเบื้อง ฯลฯ และนำองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาใช้ อาทิเช่น ข่วง ซึ่งเป็นลานกิจกรรม (court) ที่เชื่อมโยงและสร้างสัมพันธภาพระหว่างเรือนต่างๆ ใต้ถุน เรือนแบบโบราณให้ความร่มรื่นชื่นใจ ชานเรือน เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับรับลมพักผ่อนหย่อนใจ เติ๋น สำหรับใช้ทำกิจกรรมต่างๆ บนเรือน การมี ชายคา ยื่นยาวเพื่อกันแดดกันฝน ฝาไหล ที่ใช้เพื่อระบายอากาศในฤดูร้อนและให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว ทั้งยังทำให้เกิดแสงเงาที่สวยงามสาดส่องลงมาสู่บริเวณพื้นเรือน รวมถึงการวางผังแบบหมู่บ้าน ที่มีลักษณะผ่อนคลายไม่เป็นทางการ ไปจนถึงรายละเอียดของเทคนิควิธีการก่อสร้างบ้านเฮือนธรรมที่ใช้วิธีเข้าไม้แบบโบราณ นอกเหนือจากการตอบสนองต่อวิถีชีวิตและคุณค่าในแง่ความงาม ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นดังกล่าวยังเป็นการสะท้อนถึงวิถีการใช้ชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียว กับธรรมชาติ และทำให้สถาปัตยกรรมประหยัดพลังงานด้วยวิธีตามธรรมชาติ (Passive Approach) อีกด้วย

คนปลูกเฮือน... เฮือนปลูกคน... คนปลูกชุมชน

ในกระบวนการออกแบบปลูกสร้างบ้านเฮือนธรรมนั้น ผลลัพธ์ที่นอกเหนือจากสถาปัตยกรรมซึ่งเกิดขึ้นมาระหว่างกระบวนการทำงานนั้นคือสัมพันธภาพที่เกิดขึ้น ระหว่างทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่เพื่อศึกษาวิถีชีวิตและรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น การเข้าปฏิบัติธรรมร่วมกัน การใช้ชีวิตอยู่อาศัยร่วมกับ เจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวหลายครั้งเพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจวิถีชีวิตของสมาชิกแต่ละคนในบ้าน การออกแบบหน้างานจริงกับช่าง (Design at site) ไปจนถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของหมู่กัลยาณมิตรในระหว่างการก่อสร้าง ที่เมื่อทราบข่าวต่างก็มาเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจและเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ใน การปรับปรุงและส่งผลให้บ้านเกิดความงาม เช่นเพื่อนช่างแกะสลักไม้ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ที่เมื่อทราบข่าวก็ได้แสดงน้ำใจด้วยการแกะสลักพระพุทธรูปไม้ที่ประณีต งดงาม เพื่อประดิษฐาน ณ ศาลาธรรม และทำให้ศาลาธรรมมีความเป็น “ใจบ้าน” ที่มีความสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ “หัวใจ” ของชุมชนที่งดงามด้วยสัมพันธภาพระหว่างกัน

เจ้าของบ้านกับสถาปนิก... กัลยาณมิตรกับการรับฟังด้วยหัวใจ

เมื่อการปลูกสร้างบ้านเฮือนธรรมแล้วเสร็จ และเจ้าของบ้านได้เข้ามาอยู่อาศัย จึงพบว่า เรือนเจ้าของบ้าน เกิดการรั่วซึมของน้ำฝนบนหลังคาลงมาสู่พื้นที่ ภายในบ้าน อันเนื่องมาจากการเชื่อมต่อแนวหลังคารูปทรงจั่วคู่ ตามลักษณะของงานพื้นถิ่น ด้วยเหตุนี้ เจ้าของบ้านจึงมีความประสงค์ที่จะปรับเปลี่ยนรูปทรงหลังคาดังกล่าว ให้เป็นหลังคาใหญ่ผืนเดียวเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เรายังมีความลังเลใจตามประสาสถาปนิก ที่ไม่ต้องการให้การเปลี่ยนแปลงนี้มากระทบกับภาษาสถาปัตยกรรมที่เรา ได้เขียนไว้ที่สุดแล้วเจ้าของบ้านได้เชื้อเชิญให้เราไปเยี่ยมเยียนและพักอาศัยร่วมกัน ในวันนั้น วันที่ฝนตก น้ำที่รั่วซึม เสียงน้ำหยดลงในกะละมังสังกะสีระหว่างเวลานอน การตื่นขึ้นเพื่อเช็ดถูพื้นที่เปียก เป็นวันที่เราได้คิด ได้ทบทวน และกลับไปใช้ใจรับฟัง ในฐานะเพื่อนผู้ที่อยู่ร่วมกับเจ้าของบ้าน มิใช่ฐานะสถาปนิกที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล ในที่สุดเราตัดสินใจร่วมออกแบบหลังคารูปทรงใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามความต้องการของเจ้าของบ้าน และเราพบว่าหลังคารูปแบบใหม่นี้ก็มีความงามที่แตกต่าง ไปในตัวของมันเองเช่นกัน นั่นคือ ความงามที่เกิดจากความสัมพันธ์ของคนที่ “ใส่ใจ” รับฟังซึ่งกันและกัน