หอศิลป์ไม้ไผ่ สถาบันอาศรมศิลป์

ความเป็นมา

โครงการหอศิลป์ไม้ไผ่ สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นโครงการที่เริ่มต้นขึ้นเพื่อฐานการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงสำหรับ วิชาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 และเป็นฐานในการทำวิทยานิพนธ์ “กระบวนการออกแบบและก่อสร้าง อาคารไม้ไผ่ : กรณีศึกษา หอศิลป์ไม้ไผ่ สถาบันอาศรมศิลป์” เนื่องจากทางสถาบันเห็นความสำคัญในการสืบค้นองค์ความรู้ เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารด้วยไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด เผยแพร่ รวมทั้ง สร้างเครือข่ายผู้ที่สนใจ

เป้าหมายโครงการ

  • เพื่อให้นักศึกษา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำงานจริงในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
  • เพื่อก่อสร้างอาคารไม้ไผ่ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของไม้ไผ่ตามธรรมชาติอย่างสมสมัย สร้างแรงบันดาล และความเชื่อมั่นในศักยภาพของวัสดุให้กับผู้ที่ได้พบเห็น
  • เพื่อรวบรวมและต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้ ทั้งจากช่างท้องถิ่น สถาปนิก วิศวกรและผู้มีประสบการณ์ในการ ออกแบบก่อสร้างอาคารไม้ไผ่ เผยแพร่ไปสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในการออกแบบ ก่อสร้าง ต่อยอดองค์ความรู้ใน เชิงวิชาการที่สามารถนำไปใช้จริง และนำไปสู่การสร้างมาตรฐานการออกแบบอาคารไม้ไผ่ในอนาคต
  • เพื่อใช้กระบวนการเรียนรู้นี้ เป็นโอกาสในการทำความรู้จัก และสร้างเครือข่าย สถาปนิก วิศวกร ช่างก่อสร้าง ที่มีความรู้และสนใจ เกี่ยวกับการออกแบบและก่อสร้างอาคารไม้ไผ่

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกระบวนการ

จากการเรียนรู้ทำให้พบว่า วัสดุธรรมชาตินั้นเป็นวัสดุที่มีความซับซ้อนสูง เนื่องจากความเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีความหลากหลาย ซึ่งแตกต่างจากวัสดุทางอุตสาหกรรมซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานที่แน่นอน ทำให้สามารถคำนวณโดย อาศัยหลักทางวิศวกรรมได้ ในขณะที่ไม้ไผ่ถูกมองว่าเป็นวัสดุไม่ถาวร ราคาถูก กลับไม่ได้รับการศึกษาต่อยอด องค์ความรู้ ส่วนใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ส่วนใหญ่ จึงอยู่กับช่างชาวบ้าน โดยอาคารหลังนี้ได้ช่างส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอญอ ซึ่งยังคง มีวิถีชีวิตผูกพันกับไม้ไผ่ เป็นผู้ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ที่เหมาะสมและกระบวนการก่อสร้าง

ทางสถาบันได้สร้างความร่วมมือเพื่อเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่วมกับกับบริษัท ธ.ไก่ชน เพื่อสร้างพื้นที่และกระบวนการสำหรับการรักษาเนื้อไม้ด้วยสารประกอบโบรอน รวมทั้งร่วมกับ รศ.เอนก ศิริพานิชกร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อศึกษาอาคารในแง่ของความแข็งแรงทางโครงสร้าง ซึ่งอาจจะช่วยให้สถาปนิกและวิศวกรมีข้อมูลและเครื่องมือที่จะใช้ใน การประเมินโครงสร้างของอาคารไม้ไผ่ในอนาคต