โครงการปรับปรุงผังแม่บท มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาและอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล

ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศไทย อันดับที่ 11 ของเอเชีย และอันดับที่ 36 จากจำานวนมหาวิทยาลัยทั้งหมด 215 แห่ง จาก 49 ประเทศทั่วโลก จาก UI Green University World Ranking 2012, Universitas of Indonesia

1. แนวความคิดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงาน (เป้าหมายเชิงคุณค่าของโครงการ)

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ปัจจุบันเป็นวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ ณ ที่ดินพระราชทาน ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่ 1,240  ไร่ ได้มีการจัดทำผังแม่บทพัฒนาพื้นที่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 และต่อมาได้มีการปรับปรุงผังแม่บท อีก 2 ครั้ง โดยการปรับปรุงครั้งที่ 2 มีระยะเวลาการใช้ผังแม่บท 15 ปี เริ่มจาก พ.ศ. 2540 – 2554 แต่จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของมหาวิทยาลัย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม และขาดแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ของประชาคมชาวมหิดล จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบปรับปรุงผังแม่บทใหม่ทั้งระบบ ให้ตอบสนองกับทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย รวมถึงออกแบบโครงการระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับแผนดำเนินการพัฒนาของผังแม่บทในระยะยาว

นายธีรพล นิยม ในนามสถาบันอาศรมศิลป์ โดยการมอบหมายของคณะกรรมการผังแม่บท ระบบโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้ดำเนินการสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาคมชาวมหิดล อันนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการปลูกฝังคุณค่าและจิตสำนึก ของประชาคมหลากหลายโครงการ รวมถึงการออกแบบ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับกิจกรรมการเรียนรู้ ทั้งด้านวิชาการ ชีวิต ความสัมพันธ์ และการทำงานเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายเชิงคุณค่า ในการดำเนินโครงการ 4 ประการ ได้แก่

1. การสร้าง “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้และวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งทางกายภาพ และด้านจิตใจ (A Promised Place to Live and Learn with Nature) โดยออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมที่มี “คนเป็นศูนย์กลาง” เป็นการปลูกฝังคุณค่าและจิตสำนึกในการพึ่งพาตนเอง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ผ่านวิถีชีวิตประจำวัน และกิจกรรมการใช้พื้นที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่
1) การปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสายหลักภายในมหาวิทยาลัย โดยลดถนนสายหลักเดิม จาก 4 ช่องจราจร  เหลือ 2 ช่องจราจรเพื่อเปลี่ยนเป็นทางจักรยาน ทางเดินเท้าและพื้นที่ปลูกต้นไม้ รวมถึงวางแผนสร้างอาคารจอดรถยนต์บริเวณพื้นที่รอบนอกเป็นการเปลี่ยนวิถีจาก Campus เพื่อรถยนต์ มาเป็น campus เพื่อการเดินเท้าและจักรยาน
2) การปรับปรุงภูมิทัศน์ที่เสื่อมโทรม ในพื้นที่การศึกษาประมาณ 200 ไร่ ให้มีชีวิตชีวา และสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้แก่นักศึกษา โดยใช้งบประมาณไม่มาก สร้าง “ขวัญ” กำลังใจให้กับประชาคม และกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงกายภาพของมหาวิทยาลัย ให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

2. การสร้างพื้นที่สำคัญ ให้เป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านเนื้อหา คุณค่าและสัญลักษณ์ของสมเด็จพระราชบิดา และบุคคลต้นแบบซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย รวมถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต และคุณค่าของชาวมหิดล
 1) โครงการก่อสร้างอาคาร “ศูนย์การเรียนรู้มหิดล” ให้เป็นศูนย์รวมกิจกรรมของนักศึกษาและบุคลากร เพื่อสนองต่อปัญหา การขาดสถานที่สำคัญ และศูนย์รวมจิตใจของมหาวิทยาลัย
2) การออกแบบภูมิทัศน์ เพื่อกำหนดแนวแกนสำคัญของมหาวิทยาลัย เชื่อมต่อจากทางเข้าหลักด้าน ถนนบรมราชชนนี อาคารหอประชุมใหญ่ สวนเจ้าฟ้า และอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ตัดกับแนวแกนเชื่อมต่อ กลุ่มอาคารหอพัก ผ่านอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ไปยังอาคารหอสมุดกลาง เป็นการสร้างการรับรู้ถึง Sense of Place ของพื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของมหาวิทยาลัย

3. การออกแบบสภาพแวดล้อมและการใช้พื้นที่ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านกายภาพที่เป็นวิทยาเขตขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย และด้านวิชาการในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้แก่
 1) เปลี่ยนแปลงทางเข้าหลักของมหาวิทยาลัย จากด้านถนนพุทธมณฑลสาย 4 มาสู่ถนนบรมราชชนนี ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญ โดยผู้มาเยือนจะเกิดความรู้สึกของการเข้าถึง (Sense of Arrival) จากการสัมผัสพลังของธรรมชาติในโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 170 ไร่ ทำให้เกิดการรับรู้ ในความเป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ที่แท้จริง
 2) ยกระดับความสำคัญของ สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และบริการสังคมในระดับสากล เป็นจุดหมายในการเดินทางของคนทั่วโลก เพื่อยกระดับสถานภาพของมหาวิทยาลัย ให้เชื่อมโยงสู่การรับรู้ของสังคมโลก โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย

4. การสร้างแบบอย่างของมหาวิทยาลัย ที่เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน และเอื้อประโยชน์สังคม สร้างความรู้สึกไม่ปิดกั้น เป็นมิตรกับชุมชนโดยรอบ
1) การปรับปรุงภูมิทัศน์รั้วด้านหน้ามหาวิทยาลัย เป็นเนินดินสูงปลูกต้นไม้ ให้เป็นรั้วธรรมชาติที่ร่มรื่น เป็นการส่งเสริมทัศนียภาพและเชื่อมโยงกับพื้นที่ว่างภายใมหาวิทยาลัย โดยแนวเนินดินนี้ยังมีส่วนสำคัญของระบบป้องกันน้ำท่วมของมหาวิทยาลัย ที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

จากการดำเนินโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัย อย่างต่อเนื่อง เกิดผลสัมฤทธิ์ ได้แก่

1. เกิดรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยขนานใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและทัศนคติของ คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร ของมหาวิทยาลัย โดยเปลี่ยนมหาวิทยาลัยของรถยนต์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนเดินเท้าและจักรยาน เป็นที่กล่าวขานถึงของสังคมอย่างกว้างขวาง รวมถึงได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นวิทยาเขตที่มีสภาพแวดล้อมร่มรื่น งดงามแห่งหนึ่งของประเทศ มีสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ มาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก

2.มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีภาพลักษณ์ เป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ควบคู่ไปกับความสำเร็จในด้านวิชาการและการเรียนการสอน ของมหาวิทยาลัย

3. สมาชิกของประชาคมชาวมหิดล เกิด “ขวัญ” กำลังใจ และตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยในระยะเวลาอันรวดเร็ว นำไปสู่ทัศนคติที่ดี ความภาคภูมิใจต่อองค์กร และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

ในการออกแบบ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจความต้องการและกำหนดวิสัยทัศน์การออกแบบปรับปรุงผังแม่บทมหาวิทยาลัย ที่สะท้อนความต้องการให้มีสถานที่สำคัญ และศูนย์รวมจิตใจแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัย ได้มีการจัด Workshop เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาคม ในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งและโปรแกรมการใช้สอยภายในอาคาร ทำให้เห็นภาพความต้องการการใช้สอยอาคารที่ชัดเจน ทั้งด้านกายภาพ พฤติกรรมการใช้สอย รวมถึงความต้องการในเชิงคุณค่า ซึ่งนำไปสู่วัตถุประสงค์สำคัญในการออกแบบ ดังนี้

1. สร้างพื้นที่ให้ผู้ใช้อาคารและผู้มาเยือน สามารถรับรู้ (Realize) ซึมซับถึงคุณค่าความเป็น “ชาวมหิดล” ผ่านเนื้อหาและสัญลักษณ์ของ องค์สมเด็จพระราชบิดา เกิดเป็น Sense of Place ซึ่งสัมผัสรับรู้ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นการถ่ายทอดคุณค่าทางอุดมคติของสมเด็จพระราชบิดาและรุ่นพี่ ผ่านรุ่นต่อรุ่น เพื่อกระตุ้นจิตสำนึก การตระหนักในภาระหน้าที่และความเป็นมนุษย์ ให้แกนักศึกษารุ่นปัจจุบัน โดยการสร้างที่ว่างสำคัญ ได้แก่

ลานสมเด็จพระบิดา ซึ่งเชื่อมโยงกับพิธีกรรมการรับน้องซึ่งเปรียบเสมือน การเกิดใหม่ (Re-Birth) ของนักศึกษาน้องใหม่ เข้าสู่ความเป็น ชาวมหิดล

หอประวัติพระราชบิดา เป็นพื้นที่สำคัญที่สุดของอาคาร ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการ  พระราชประวัติและสิ่งของสำคัญเกี่ยวกับสมเด็จพระราชบิดา ในฐานะแบบอย่าง และศูนย์รวมจิตใจของคนในมหิดล

โถงแสดงเกียรติประวัติ (Hall of Fame) เป็นโถงเปิดโล่ง 2 ชั้น เชื่อมต่อกับหอประวัติพระราชบิดา จัดแสดงเรื่องราวเกียรติประวัติ และผลงานของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ที่สร้างคุณประโยชน์แก่สังคม ให้นักศึกษาและผู้ใช้อาคารเดินผ่านเป็นประจำ เป็นการปลูกฝังสำนึกการอุทิศตัวเพื่อสังคม

งานประติมากรรม เสา 7 ต้น เพื่อสื่อสาร คุณค่าหลัก (Core Value) ของชาวมหิดล ได้แก่ เป็นนายแห่งตน  (Mastery)  มุ่งผลเพื่อผู้อื่น (Altruism) กลมกลืนกับสรรพสิ่ง (Harmony) มั่นคงยิ่งในคุณธรรม (Integrity)  แน่วแน่ทำ กล้าตัดสินใจ (Determination) สร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Originality)  ใฝ่ใจเป็นผู้นำ (Leadership)
รวมถึงการติดตั้ง คำขวัญ ของสมเด็จพระราชบิดา ตามส่วนต่างๆ ของอาคาร เป็นสิ่งเตือนใจให้กับ นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และผู้มาเยือน

2. ออกแบบอาคารให้เป็นศูนย์กลางกิจกรรม เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิต การเรียนรู้ และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน สะท้อนถึงความเป็นมหาวิทยาลัย ที่ประสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับสิ่งแวดล้อม ชุมชนและวัฒนธรรม อย่างเป็นองค์รวม สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยการออกแบบให้มี “พื้นที่ชุมชน” เพื่อการพูดคุยพบปะสังสรรค์ และทำกิจกรรมต่างๆ ในหลากหลายระดับ ได้แก่ Community Space, Small Community Space และ Individual Space (Cave Space) รวมถึงการออกแบบที่ว่างให้เชื่อมต่อสัมพันธ์กันทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง (Vertical & Horizontal Relationship) เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรแห่ง “มิตรภาพสัมพันธ์”

3. ออกแบบกิจกรรม พิธีกรรม รวมถึงออกแบบพื้นที่กิจกรรม การเกิดใหม่ (ReBirth) สู่ความเป็น ชาวมหิดล เพื่อปลูกฝังคุณค่าและจิตสำนึก โดยเชื่อมแกนสำคัญของมหาวิทยาลัย ด้วยวัตถุธรรม ได้แก่ พระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา และประติมากรรมดอกกันภัย ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย

4. มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น (Tropical Architecture) แสดงออกถึงลักษณะที่โปร่งเบา มีพื้นที่สวนและต้นไม้แทรกอยู่ภายในอาคาร โดยถอดรหัสจากภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ในการออกแบบที่ว่างและองค์ประกอบอาคาร ได้แก่ ใต้ถุน ข่วง ชาน ชายคา รวมถึงการให้ร่มเงากับอาคารด้วยแผงกันแดด และต้นไม้รอบอาคาร

5. ออกแบบอาคารให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เพื่อความนิ่ง สงบเย็น เอื้อต่อการเรียนรู้ เน้นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้ศักยภาพของบริบทที่ตั้งและสภาพแวดล้อมอย่างสูงสุด โดยออกแบบอาคารให้มีพื้นที่และกิจกรรมเชื่อมโยงกับสวนเจ้าฟ้า ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และทันที เนื่องจากในปัจจุบันยังมีการใช้งานน้อย เพราะรูปแบบการจัดพื้นที่และทางสัญจรที่ไม่เหมาะสม

6. คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน เน้นการระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ ใช้ระบบปรับอากาศเท่าที่จำเป็น ออกแบบอาคารสูงเพียง 4 ชั้น เพื่อให้เหมาะสม และเอื้อต่อการเดิน ทำให้การเข้าถึงอาคารเป็นไปได้ทั่วถึงมากขึ้น ช่วยประหยัดพลังงานที่ต้องใช้สำหรับลิฟท์ในการสัญจรทางตั้ง

7. เลือกใช้วัสดุในการก่อสร้าง ที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ เช่น อิฐ ดิน และ ไม้ เพื่อสร้างความตระหนัก รับรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

8. ออกแบบรูปทรงอาคารให้เรียบง่าย ตรงไป ตรงมา เพื่อความคงทนถาวรและประหยัด ทั้งในการใช้งานและการบำรุงรักษา (Low-Maintenance) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างสำนึกรับผิดชอบในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

2. เทคนิคและขั้นตอนในการสร้างผลงาน

การกำหนดเป้าหมายเชิงคุณค่าในการออกแบบและวางผัง

ในการกำหนด “เป้าหมายเชิงคุณค่า” ของโครงการนี้  ประกอบด้วยกระบวนการที่หลากหลาย โดยมีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของโครงการอย่างรอบด้าน จากในอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงวิสัยทัศน์และแผนพัฒนาในอนาคตของมหาวิทยาลัย มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ออกแบบกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งนำไปสู่การแถลงนโยบายการพัฒนาผังแม่บทและภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัย ให้ประชาคมรับรู้และร่วมแสดงความคิดเห็น ภายใต้วิสัยทัศน์ร่วม ในการสร้าง “A Promised Place to Live and Learn with Nature

กระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบ

การออกแบบโครงการ ได้จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเสนอวิสัยทัศน์การออกแบบ การออกแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็น นอกจากนี้การออกแบบ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ยังได้มีการจัด Workshop ร่วมกับประชาคม รวม 2 ครั้ง เพื่อกำหนดโปรแกรมการใช้สอยภายในอาคาร รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งอาคาร ซึ่งช่วยให้ผู้ออกแบบ ผู้บริหาร รวมถึงสมาชิกในประชาคม ได้มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของโครงการร่วมกัน และเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการมากขึ้น

การออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและประหยัดพลังงานแบบ Passive Approach

การออกแบบโครงการ เน้นแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ทั้งในการวางผังแม่บทและภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงการออกแบบ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ซึ่งเน้นความสอดคล้อง กลมกลืนกับธรรมชาติ และรูปแบบที่เป็นสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น (Tropical Architecture)

3. การเผยแพร่และการนำงานออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน

  • มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับจาก UI GreenMetric University World Ranking 2012, Universitas Indonesiaให้อยู่ในอันดับที่ 36 จากจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมด 215 แห่ง จาก 49 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยและอันดับที่ 11 ของเอเชีย (http://greenmetric.ui.ac.id/id/page/ranking-2012)
  • ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายแนวความคิดและประสบการณ์การออกแบบปรับปรุงผังแม่บทมหาวิทยาลัย ให้กับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555
  • อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร อาษา โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์  อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Art 4D ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2554

4. การถ่ายทอดผลงานให้ผู้อื่น

  • กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานผู้ออกแบบ คณะทำงานของมหาวิทยาลัย และสมาชิกของประชาคมชาวมหิดล ทำให้เกิดการสื่อสารระบบคิดของเป้าหมายเชิงคุณค่า และแนวทางในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  • มหาวิทยาลัยมหิดล และอาคารศูนย์การเรียนรู้ มีหน่วยงานและสถาบันเข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน ทั้งด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และการจัดการสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสาธารณะอย่างกว้างขวาง

5. ความโดดเด่น ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตนของผลงาน

  • เป็นโครงการออกแบบวางผังที่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตและการเรียนรู้ โดยมี “คนเป็นศูนย์กลาง” การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเพียงปัจจัยทางด้านเทคนิค ซึ่งสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาได้ด้วยการออกแบบ
  • เป็นการออกแบบอาคารเพื่อตอบสนองความต้องการด้านคุณค่า และการปลูกฝังจิตสำนึก ผ่านเนื้อหาเชิงสัญลักษณ์ วิถีชีวิตและพิธีกรรม โดยสถาปนิกมีบทบาทสำคัญในการร่วมกำหนดเป้าหมายในการใช้อาคารร่วมกับผู้ใช้อาคาร

6. ความมุ่งหวัง คุณค่า ประโยชน์ และความสำคัญของผลงาน

  • เป็นแบบอย่างของการออกแบบผังแม่บทมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งมีสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน และนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาปรับปรุงผังแม่บท เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น
  • เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและทัศนคติของ คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร ของมหาวิทยาลัย ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
  • ให้ความสำคัญกับการนำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคมและผู้ใช้อาคาร มาใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นอาคารสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย และกิจกรรมการใช้สอยอาคาร เป็นการสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของร่วมกันของประชาคม
  • ขยายบทบาทของวิชาชีพสถาปนิก ด้วยการนำความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมไปมีส่วนในการสร้างจิตสำนึก และคุณค่า รวมถึงการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษา ผ่านการออกแบบอาคารสำคัญในโครงการ
  • ต้องการให้เป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจแก่สถาปนิกรุ่นเยาว์ในการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย (Contemporary Architecture) ที่สืบสานจากรากของสังคมไทย ทั้งในมิติของกายภาพ สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของบรรพบุรุษ และเป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้โลก ทำให้เกิดความเข้าใจและภูมิใจในความเป็นชาติ และสามารถพัฒนางานสถาปัตยกรรมในอดีตที่มีเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับของชาวโลก ไปสู่งานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในระดับโลกได้